การนำดาวเทียมกลับมาใช้ซ้ำ เป็นแนวคิดที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมานั้นมีอุปสรรคมากมายที่ทำให้แนวคิดนี้ไม่สำเร็จ ข่าวดีคือตอนนี้แนวคิดนี้ใกล้จะเป็นจริงแล้วเมื่อล่าสุดอังกฤษพัฒนาดาวเทียมใช้ซ้ำเดินทางกลับโลกลงจอดบนโดรนลอยน้ำได้สำเร็จ ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามอ่านกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- บริษัท สเปซ ฟอร์จ (Space Forge) ประเทศอังกฤษ กำลังพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมรูปแบบใหม่สามารถเดินทางกลับโลกเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ แก้ปัญหาขยะอวกาศในวงโคจรของโลกที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- บริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท ฟอร์จสตาร์ (ForgeStar) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่นี้ขึ้นมาโดยการรวมเทคโนโลยีดาวเทียมและยานอวกาศเข้าไว้ด้วยกัน แนวคิดหลักใช้การส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร เมื่อดาวเทียมหมดอายุการใช้งานโดยปกติแล้วดาวเทียมทั่วไปจะกลายเป็นขยะอวกาศแต่เทคโนโลยีดาวเทียมรูปแบบใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาสามารถเดินทางกลับโลกเพื่อใช้งานใหม่
- แผงกันความร้อน (Heat shields) ที่มีชื่อว่าพริดเวน (Pridwen) เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ดาวเทียมเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศโลกกลับลงสู่โลก ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้เกิดความร้อนสูงจนทำให้ดาวเทียมระเบิดออกได้ แผงกันความร้อนถูกออกแบบให้สามารถพับซ่อนเก็บเอาไว้ในดาวเทียมและเมื่อถูกใช้งานมันจะกางออกลักษณะคล้ายร่มขนาดใหญ่กลับหัว
- แผงกันความร้อนพริดเวน (Pridwen) สามารถพับเก็บได้ลักษณะแตกต่างจากแผงกันความร้อนของนาซาหรือบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ที่ใช้วิธียึดติดแผ่นกระเบื้องกันความร้อนเข้ากับผิวภายนอกบริเวณลำตัวด้านล่างและปีกของยานอวกาศ
- นอกจากนี้บริษัทยังพัฒนาโดรนลอยน้ำไร้คนขับชื่อว่าฟีลเดอร์ (Fielder) เพื่อรองรับการลงจอดของดาวเทียมบนผิวน้ำในทะเล โดรนลอยน้ำรุ่นใหม่นี้มีลักษณะคล้ายจานตาข่ายขนาดใหญ่ติดตั้งทุ่นลอยน้ำและระบบขับเคลื่อนประมาณ 12 ลูก ลอยอยู่ด้านล่าง โดรนเคลื่อนที่เข้าหาพื้นที่การลงจอดของดาวเทียมโดยอัตโนมัติผ่านระบบนำทางที่แม่นยำ โดยไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์อยู่บนโดรนขณะปฏิบัติภารกิจ
และนี่ก็คืออีกหนึ่งข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงอวกาศที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบถูกใจคอไซไฟอวกาศทุกคน และหากมีเรื่องราวที่น่าสนใจเช่นนี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครโดยทันที