วิคกี้ สกิ๊ปป์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอะโดบี กล่าวว่า อะโดบีได้ทำการปรับนโยบายสำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ขึ้นสู่คลาวด์ทั้งหมด ประเดิมผลิตภัณฑ์แรก Adobe® Creative Cloud™ ที่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาใหม่ ก่อนจะขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของอโดบี ส่วนสมาชิกที่ใช้งานอยู่แล้วอะโดบีจะนำขึ้นสู่คลาวด์ทั้งหมด ซึ่งนับจากนี้อะโดบีจะมุ่งเน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์ครีเอทีฟบน Creative Cloud ปัจจุบันบริการ Adobe Creative Cloud มีสมาชิกที่เสียค่าบริการกว่าห้าแสนราย และสมาชิกฟรีกว่า 2 ล้านราย ได้ลงทะเบียนเข้าใช้บริการ Creative Cloud นับตั้งแต่ที่เริ่มเปิดตัวทั่วโลกเมื่อเดือนเมษายน 2555 ส่วนในปีนี้อะโดบีคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาเป็นสมาชิกทั้งสิ้น 1.25 ล้านราย แม้ว่าผลิตภัณฑ์ Adobe Creative Suite® 6 จะยังคงมีวางจำหน่ายต่อไป แต่บริษัทฯ ไม่มีแผนที่จะวางจำหน่าย Creative Suite หรือผลิตภัณฑ์ CS อื่นๆ อีกต่อไป นอกจากนี้เครื่องมือเดสก์ท็อปของอะโดบี ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า Creative Suite (CS) แต่หลังจากได้มีการพัฒนาให้ขึ้นสู่คลาวด์นี้ ผลิตภัณฑ์ใหม่จะถูกนำเสนอภายใต้แบรนด์ CC เพื่อแสดงให้เห็นว่าโปรแกรมเหล่านี้เป็นส่วนประกอบหลักใน Creative Cloud และได้ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการสร้างสรรค์แนวใหม่ภายใต้การเชื่อมต่อ วิคกี้ กล่าวว่า สำหรับตลาดเมืองไทยก่อนที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ทางอะโดบีได้มีการสอบถามถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่มีความพร้อมสำหรับการใช้งานในรูปแบบใหม่นี้ ซึ่งการจัดจำหน่ายนั้นผู้ใช้งานทั่วไปสามารถดาว์นโหลดได้ที่เว็บไซต์อะโดบี ส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีและองค์กรจะต้องทำการซื้อผ่านรีเซลเลอร์และดิสทริบิวเตอร์ของอะโดบี “การจัดจำหน่ายรูปแบบใหม่นี้จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับตัวแทนจำหน่ายของอะโดบีแต่อย่างใด เนื่องจากในกลุ่มลูกค้าองค์กรนั้นจะยังคงขายผ่านตัวแทนจำหน่ายต่อไป เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางชนิดมีความต้องการความรู้ความเข้าใจก่อนที่จะใช้งาน ซึ่งตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้จะเป็นผู้ให้คำตอบ และส่งความคิดเห็นหรือความต้องการของลูกค้ากลับมาที่อะโดบีเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อไป” วิคกี้ กล่าวว่า ในส่วนของหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษานั้น อะโดบีได้จัดให้มีราคาพิเศษขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้ผลิตภัณฑ์ระดับโลกที่มีประสิทธิดภาพ และสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ตามวิสัยทัศน์ขององค์กร รวมไปถึงจะสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้งานซอฟต์แวร์แท้ที่มาจากผู้ผลิตโดยตรง Adobe Creative Cloud เป็นบริการแบบสมัครสมาชิกที่ผู้ใช้งานจะสามารถใช้เครื่องมือและบริการต่างๆ กว่า 30 รายการ รองรับการสร้างเนื้อหาคอนเทนต์ และสามารถนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น สื่อสิ่งพิมพ์, เว็บ, โมบายล์แอป, วิดีโอ และภาพถ่าย นอกจากนี้ Creative Cloud ยังได้ผนวก “Behance” ซึ่งเป็นชุมชนครีเอทีฟออนไลน์เข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถจัดแสดงผลงาน รับคำติชมเกี่ยวกับโครงงาน และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก เพื่อให้ Creative Cloud เป็นส่วนช่วยในการขยายขอบเขตการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่ชุมชนครีเอทีฟอีกด้วย นอกจากนี้สมาชิกยังสามารถจัดพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ติดตามครีเอทีฟคนอื่นๆ เผยแพร่ผลงานที่กำลังทำอยู่จากภายใต้โปรแกรม CC ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรับฟังคำติชมจากครีเอทีฟกว่า 1.4 ล้านคนทั่วโลกซึ่งเข้าร่วมในเครือข่าย Behance “ผู้ใช้สามารถซิงโครไนซ์ จัดเก็บ แชร์ และทำงานร่วมกัน ไฟล์และทรัพยากรทั้งหมดจะถูกซิงโครไนซ์โดยอัตโนมัติระหว่างเดสก์ท็อป คลาวด์ และอุปกรณ์พกพา นักออกแบบจะสามารถถ่ายภาพบนเครื่อง iPad จากนั้นก็ใช้ Photoshop Touch ในการปรับแต่งภาพถ่ายขณะกำลังเดินทาง แล้วเรียกใช้ไฟล์ดังกล่าวผ่านทางคลาวด์ และใช้ Photoshop CC บนเครื่อง Mac หรือพีซี Windows เพื่อปรับแต่งภาพถ่าย นักออกแบบสามารถกำหนดโฟลเดอร์ที่ใช้ร่วมกัน และเชิญให้คนอื่นๆ ทำงานร่วมกันบนไฟล์ได้ ข้อมูลการแก้ไขจะถูกจัดเก็บพร้อมประวัติเวอร์ชัน (Version History) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถแชร์ไฟล์ได้อย่างมั่นใจ สมาชิกรายบุคคลจะได้รับพื้นที่เก็บข้อมูล 20GB” วิคกี้ กล่าว [code]ที่มา : http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9560000058112 [/code]