นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่เพื่อให้บริการ 3จีภายใต้เทคโนโลยีเอชเอสพีเอระหว่าง กสท กับกลุ่มบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ถูกต้องตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติให้ดำเนินการแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จ 6 ประเด็น จากการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสท เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้รายงานความคืบหน้าให้บอร์ดรับทราบบ้างแล้ว ล่าสุดที่คณะทำงานศึกษาหาแนวทางการแก้สัญญา 3จี เข้าไปเจรจากับทรูถึงแนวทางการแก้ไขสัญญาดังกล่าวซึ่งอยู่ในเฟสสุดท้ายแล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการเจรจาเสร็จเร็วๆ นี้ ส่วนแนวทางในการแก้ไขสัญญาเบื้องต้นนั้น ยอมรับว่า บอร์ดกสท ยังไม่ได้สรุปว่าจะเลือกวิธีการใดใน 3 วิธี คือ 1.ทำสัญญาใหม่แนบท้ายต่อสัญญาเดิม 2.แก้ไขสัญญาเดิม และ 3.ยกเลิกสัญญาเดิมทั้งฉบับ แล้วทำสัญญาใหม่ขึ้นมา “แต่ระหว่างนี้ การเจรจากับทางทรู เราได้ร่างสัญญาตัวแนบท้ายไปด้วย เนื่องจากหากเลือกใช้วิธีการร่างสัญญาใหม่แทนสัญญาฉบับเดิมอาจจะส่งผลกระทบต่อเงื่อนไขกับทางธนาคารทีทรูได้กู้มาตอนแรกเพื่อให้บริการ3จีก็เป็นได้” เนื่องจากภายใต้สัญญาฉบับเก่าทางทรูได้กู้ยืมเงินมาลงทุนการให้บริการ 3จี ภายใต้สัญญาฉบับเก่าเป็นจำนวนเงินกว่า 48,900 ล้านบาท ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงไทย, ยูโอบี และเอ็กซิมแบงก์ ซึ่งหากสัญญาดังกล่าวเปลี่ยนแปลงอาจจะส่งผลกระทบทรูได้ อย่างไรก็ดี การเจรจากับทรู มีหลักๆ 3 ประเด็น คือ 1.ตามนโยบายของกสทช. 6 ประเด็น ได้แก่ 1. กสท ต้องสามารถนำคลื่นความถี่ย่าน 800 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้กับเครื่อง และอุปกรณ์ของกสท หรือของบริษัทอื่นได้ 2.กสท ต้องควบคุมดูแลและบริหารจัดการเน็ตเวิร์ค โอปอเรเตอร์ เซ็นเตอร์ อย่างสมบูรณ์ 3. ข้อมูลการใช้งาน ต้องอยู่ในความครอบครองของ กสท 4.อำนาจของคณะกรรมการควบคุมการปฏิบัติงานตามสัญญาต้องมีความชัดเจน โดยแสดงให้เห็นถึงอำนาจในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ของ กสท 5. กระบวนการสร้างและจัดหาความจุของ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด จะต้องแสดงให้เห็นว่า กสท เป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการตัดสินใจในเรื่องแผนคลื่นความถี่ แผนการขยายโครงข่าย และการปฏิบัติงานอย่างสมบูรณ์ และ6.กสท ต้องเป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการเจรจาการให้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ และการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับผู้ประกอบการรายอื่น ขณะที่ประเด็นที่ 2.การเจรจาเรื่องตัวเลขอัตราค่าเช่า ระหว่าง กสท และบีเอฟเคที และอัตราค่าบริการระหว่างกสท และเรียลมูฟ และประเด็นที่ 3. ทรัพย์สินสัมปทาน ซึ่งหาก ทรูไม่โอนอุปกรณ์คืน หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเชิงกฏหมาย ก็คงต้องดำเนินการฟ้องร้อง ซึ่งขบวนการที่จะดำเนินการต้องแยกกันไป