แม้ว่าเทคโนโลยีด้านการแพทย์ของโลกเราจะก้าวหน้าไปมากแล้ว แต่การผ่าตัดร่างกายมนุษย์ต้องใช้ทักษะขั้นสูงของศัลยแพทย์ ที่บางครั้งอาจกินเวลายาวนาน และความเหนื่อยล้าจากการผ่าตัดอาจส่งผลเสียต่อทั้งตัวแพทย์และตัวผู้ป่วยเพราะการผ่าตัดโดยคนย่อมมี human error เกิดขึ้นได้เสมอ เพื่อเป็นการลดข้อผิดพลาดดังกล่าวจึงมีการคิดค้นหุ่นยนต์แขนกลเพื่อช่วยในการผ่าตัดที่ซับซ้อนขึ้นมาและมันก็เริ่มประสบความสำเร็จแล้ว รายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- ล่าสุดที่สถาบันวิจัย อีพีเอฟแอล (EPFL) สถาบันวิจัยทางการแพทย์ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้เปิดตัวหุ่นยนต์ 4 แขน ดา วินชี่ เอ็กซ์ (da Vinci X) ซึ่งมีแขน 2 ข้างควบคุมการทำงานโดยมือของศัลยแพทย์ ซึ่งแต่ละแขนสามารถถือเครื่องมือแยกย่อย เช่น มีดผ่าตัด หรือคีมหนีบไว้พร้อมกัน
-
ขณะที่เท้าของศัลยแพทย์ จะใช้ในการควบคุมแขนรองที่มีขนาดเล็กกว่าแขนหลัก ซึ่งข้างหนึ่งติดตั้งกล้องเอนโดสโคป (Endoscope) หรือกล้องส่องขนาดเล็กที่ใช้ในการมองดูแผลผ่าตัด ส่วนอีกข้างใช้ควบคุมแขนที่ใช้จับคีมเอาไว้ ส่วนของตัวกระตุ้น (Actuator) บริเวณตัวควบคุม ทีมพัฒนาเลือกใช้ระบบการตอบสนองจำกัดแรงแบบสัมผัส เพื่อให้ตัวหุ่นยนต์ไม่ใช้แรงกระทำมากเกินไปกับแผลที่บอบบางของร่างกายผู้ป่วย
-
อย่างไรก็ตาม การควบคุมเครื่องมือ 4 ชิ้นพร้อมกันอาจทำให้ตัวแพทย์ผู้ควบคุมเหนื่อยล้า ระบบแขนหุ่นยนต์จึงมีฟีเชอร์ควบคุมตนเองแบบพื้นฐานให้ใช้งานอีกด้วย เช่น หากมีการผูกเงื่อนไว้ที่แผลเย็บ ตัวกล้องที่ใช้สำหรับดูแผลจะสามารถเคลื่อนไปยังตำแหน่งแผลเย็บโดยอัตโนมัติเพื่อให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน
-
ทีมวิจัยจากอีพีเอฟแอลเผยว่า ศัลยแพทย์ทุกคนสามารถฝึกใช้หุ่นยนต์ดาวินชี่ เอ็กซ์ ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ และหากหุ่นยนต์นี้ผ่านการทดสอบและใช้งานในห้องผ่าตัดโดยสมบูรณ์เมื่อไร ก็จะช่วยทุ่นแรงแพทย์และลดการใช้กำลังคนในงานที่ปกติต้องใช้คน 2-3 คนให้เหลือเพียงคนเดียว ทั้งลดการใช้ทรัพยากรมนุษย์ และช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
-
ส่วนบทความของการวิจัย ได้รับการตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ใน The International Journal of Robotics Research ขณะที่ปัจจุบันหุ่นยนต์แขนกลนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลองระดับคลินิกที่สถาบันอีพีเอฟแอล ในเมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะถูกนำไปใช้ที่ห้องผ่าตัดในอนาคต
และนี่ก็คืออีกหนึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านเทคนิคการแพทย์ที่เราอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบถูกใจคอเทคโนโลยีกันทุกคน และหากมีความคืบหน้าประการใดเกี่ยวกับโปรเจ็คต์นี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที