บริการฝากไฟล์ชื่อดังอย่าง Dropbox (ดรอปบอกซ์) ประกาศความสำเร็จว่ามีผู้ใช้งานทะลุ 100 ล้านคนแล้ว ถือเป็นหลักไมล์สถิติที่ทำให้ Dropbox ขึ้นแท่นบริการยอดนิยมของโลกหลังแจ้งเกิดบริการมาเพียง 5 ปี Drew Houston (ดริว ฮุสตัน) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Dropbox ประกาศความสำเร็จครั้งนี้ไว้ในเว็บไซต์บริษัท เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของบริษัทตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือซีอีโอ Dropbox เล่าว่า แนวคิดบริการเก็บข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตผ่านระบบคลาวด์คอมพิวติ้งนี้เกิดขึ้นเพราะตัวเขาลืม USB stick หรือทัมป์ไดรฟ์ไว้ที่บ้าน ซึ่งวิกฤตนี้ทำให้โลกมีบริการอุดมประโยชน์เกิดขึ้นบนโลก Dropbox เป็นเครื่องมือที่ทำให้ชาวออนไลน์สามารถเก็บและเรียกใช้ไฟล์งานได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะใช้งานกับคอมพิวเตอร์เครื่องใด สถานที่ใด และเป็นไฟล์เอกสารชนิดใด ขอเพียงให้อุปกรณ์นั้นสามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ผู้ใช้ก็สามารถป้อนรหัสผ่านเพื่อเข้าถึงไฟล์งานได้ง่ายดาย รวมถึงการแบ่งปันไฟล์เอกสารแก่บุคคลอื่น เพื่อสร้าง ลบ และแก้ไขไฟล์ร่วมกันได้แม้ไม่อยู่ในสถานที่เดียวกัน ความสะดวกสบายนี้ทำให้ Dropbox ได้รับความนิยมมากตลอดเวลาไม่กี่ปีที่ให้บริการมา โดยต้นปี 2012 ดรอปบอกซ์เพิ่งประกาศว่ามีผู้ใช้งานมากกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน ปี 2011 ครั้งนั้น Dropbox ระบุว่ามีผู้ใช้ราว 25 ล้านคนเท่านั้น และปริมาณการเก็บไฟล์บน Dropbox มีจำนวนมากกว่า 200 ล้านไฟล์ทุกวัน เมื่อ 5 ปีที่แล้ว Dropbox ได้รับเงินทุนจากนักลงทุนอิสระกว่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันสามารถมีมูลค่าตลาดสูงถึง 4 พันล้านเหรียญ โดยคู่แข่งของ Dropbox นั้นมีตั้งแต่บริการเกิดใหม่อย่าง Box และ SugarSync รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple, Microsoft และ Google ที่เปิดตัวบริการเก็บข้อมูลบนคลาวด์ของตัวเองทุกราย จุดนี้ซีอีโอ Dropbox ให้สัมภาษณ์แก่สื่ออย่าง New York Times ว่า บริษัทเหล่านี้กำลังพยายามทำสิ่งที่ Dropbox ทำได้ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว แน่นอนว่าคำพูดนี้สะท้อนความมั่นใจในอนาคตของ Dropbox อย่างชัดเจน ก่อนหน้านี้ DropBox เป็นข่าวว่าถูกลักลอบเจาะระบบเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2012 ที่ผ่านมา โดยออกมายอมรับต่อสาธารณชนเมื่อต้นเดือนสิงหาคม จุดนี้ DropBox ยืนยันว่าจากการตรวจสอบพบชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านของบริการ DropBox ถูกขโมยจากเว็บไซต์อื่น ก่อนจะใช้ข้อมูลที่ขโมยมาในการลงชื่อใช้งานเพื่อเปิดดูข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ ซึ่งแปลว่า DropBox ไม่ได้มีความบกพร่องเรื่องการดูแลระบบเครือข่าย สิ่งเดียวที่เป็นจุดอ่อนของ DropBox คือการวางความสำคัญไว้ที่รหัสผ่านมากเกินไป ล่าสุด DropBox จึงตัดสินใจเพิ่มมาตรการพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้ 2 ชั้น ซึ่งทำให้ผู้ใช้ต้องกรอกรหัสผ่านและรหัสยืนยันที่ถูกส่งไปทางโทรศัพท์มือถือหรืออีเมล แม้ปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่เกิดขึ้นกับ DropBox จะถูกบอกต่อในวงกว้าง แต่ตัวเลขผู้ใช้งานที่เติบโตอย่างต่อเนื่องก็แสดงว่า DropBox ยังสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานทั่วโลกได้ดีอย่างชัดเจน