หลายคนชอบการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ เพราะสภาพธรรมชาติใต้น้ำเป็นสิ่งแปลกใหม่ สวยงามสะกดใจที่น้อยคนจะได้เห็น การดำน้ำจึงเป็นกีฬาที่สนุกและตื่นเต้น แต่ก็แฝงไปด้วยอันตราย เพราะการดำน้ำลึกในระดับ 50 เมตร ผู้ดำน้ำต้องเผชิญแรงดันมหาศาล และต้องใช้เครื่องมือดำน้ำที่ซับซ้อนและมีราคาแพง ข่าวดีคือล่าสุดกองทัพสหรัฐฯ ได้ทำการคิดค้นชุดดำน้ำแบบใหม่ ที่ใช้งานง่าย ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและเสียเวลาเพื่อนำมาปรับใช้กับกองทัพแล้ว รายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามอ่านกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทดสอบชุดดำน้ำลึกแบบใหม่ หรือชุด DSEND (Deep Sea Expeditionary with No Decompression) ที่ทั้งเบาและยืดหยุ่น แต่ยังคงแรงดันรอบตัวผู้สวมใส่ให้อยู่ในระดับปกติ แม้จะอยู่ใต้น้ำลึก
-
โดยปกติแล้ววิธีการดำน้ำลึกในปัจจุบันจะใช้ระบบดำน้ำแบบก๊าซผสม ซึ่งไนโตรเจนในอากาศที่ใช้หายใจจะถูกแทนที่ด้วยฮีเลียมและไฮโดรเจน ขณะที่ระดับของออกซิเจนจะคงอยู่ในความเข้มข้นที่เพียงพอต่อการหายใจ การใส่ชุดนี้มีความยุ่งยาก และต้องใช้ก๊าซฮีเลียมและไฮโดรเจนจำนวนมหาศาลเพื่อจ่ายให้กับนักดำน้ำ พร้อมกับการใช้ระบบน้ำร้อนหมุนเวียนผ่านหัวจ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิในชุดลดต่ำลงจากก๊าซฮีเลียมและไฮโดรเจนที่มีอุณหภูมิต่ำจนนักดำน้ำอาจเสียชีวิตได้
-
นอกจากนี้ นักดำน้ำต้องอยู่ในห้องปรับความดันแบบพิเศษบนตัวเรือหลัก และย้ายลงไปที่ระดับความลึกที่ต้องการรวมทั้งกลับขึ้นมาบนผิวน้ำด้วยกระสวยดำน้ำแบบพิเศษ และหลังจากเสร็จสิ้นการทำงาน นักดำน้ำก็ยังต้องอยู่ในห้องปรับความดันเป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ เพื่อปรับสภาพร่างกายให้เข้ากับแรงดันอากาศปกติบนผิวน้ำ
-
อีกทางเลือกหนึ่งคือการสวมชุดเกราะดำน้ำ ที่ช่วยคงแรงดันให้นักดำน้ำสามารถอยู่ภายใต้ความดันระดับปกติตลอดการดำน้ำได้ แต่ชุดนี้เป็นชุดโลหะเนื่องจากต้องทนกับแรงดันในความ 183 เมตรที่มากกว่าปกติถึง 18 เท่า ชุดจึงต้องมีน้ำหนักมากจนต้องติดตั้งเครื่องขับดันไฟฟ้าเพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ นอกจากนี้ยังต้องใช้เรือที่มีอุปกรณ์ยกของหนักและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือนักดำน้ำที่สวมใส่
-
โครงการ DSEND เกิดขึ้นมาเพื่อลบล้างข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ โดยสร้างชุดดำน้ำลึกน้ำหนักเบาในความลึกที่ไม่เกิน 92 เมตร พร้อมติดตั้งระบบช่วยชีวิตเตรียมพร้อมไว้ ชุด DSEND แข็งแรงพอที่จะช่วยให้หลีกเลี่ยงอันตรายจากแรงดันน้ำในระดับความลึกเกือบ 100 เมตรได้ แต่ยังทำให้เคลื่อนไหวใต้น้ำ หรือแม้แต่ว่ายน้ำก็สามารถทำได้เช่นกัน
-
ผลการทดสอบใช้ชุด DSEND ปรากฏว่า ชุดดังกล่าวทำให้การกู้ภัยมีความสะดวก และมีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นมาก
-เป้าหมายต่อไปของโครงการนี้จะเป็นการยกระดับชุด DSEND ให้ดำน้ำได้ลึกกว่าเดิม และผู้สวมใส่สามารถทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังวางเป้าหมายในการทดสอบชุดในทะเล ที่เป็นสภาพแวดล้อมการทำงานจริงอีกด้วย
และนี่ก็คือชุดดำน้ำ DSEND ที่เราอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบถูกใจคอเทคโนโลยีกันทุกคน และหากมีข่าวคืบหน้าประการใดเกี่ยวกับโครงการนี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที