นายเดวิด เวิร์ท รองประธาน โกลบอล เซอร์วิส เอเชีย แปซิฟิกและญี่ปุ่น อีเอ็มซี คอร์เปอเรชัน กล่าวว่า ความท้าทายของระบบไอทีในองค์กรเวลานี้ มีด้วยกัน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ การเตรียมตัวที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานระบบไอทีที่มีอยู่ให้เข้าสู่ของคลาวด์คอมพิวติ้ง กับเรื่องที่ของการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า จากข้อมูลวิจัยตลาดพบว่า องค์กรยังมีความลังเลว่า ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานระบบไอทีไปเป็นแบบพับลิบคลาวด์หรือไพรเวทคลาวด์ ถ้าเป็นไพรเวทคลาวด์ก็จะได้ความเชื่อมั่นในระดับการให้บริการ การดูแลระบบที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายไอที แต่ถ้าเป็นพับลิบคลาวด์ที่ใช้บริการจากผู้ให้บริการพับลิบคลาวด์ก็จะได้ความคล่องตัว ความยืดหยุ่นและง่ายในการใช้งาน โดยทั้งหมดนี้ถือเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการบริหารจัดการระบบไอทีใหม่หมดโดยเน้นไปที่มุ่งตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้ใช้บริการเป็นหลักแทน “ทางอีเอ็มซีมองว่า ไฮบริดคลาวด์ เป็นโซลูชันที่ผสานข้อดีของทั้งพับลิบคลาวด์และไพรเวทคลาวด์เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยและเสถียรภาพของระบบไอทีภายในองค์กร และความาสะดวกและคล่องตัวในการให้บริการเวอร์วิสใหม่ๆ” การนำคลาวด์ เทคโนโลยีมาใช้ขององค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังถือว่า ตามหลังประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศในภูมิภาคอเมริกาตอนเหนือที่มีการประยุกต์คลาวด เทคโนโลยีมาใช้องค์กรแล้ว 100% เรียกว่าได้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งถือว่า ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายระบบที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์เข้าสู่เวอร์ชัวร์ไลเซชันประมาณ 60% เท่านั้น นายเดวิด ยังกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องของบิ๊กดาต้า บทบาทหลักๆ จะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ในองค์กร รวมไปถึงข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย อย่างเฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารไปแล้ว มาสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร นายนฐกร พจนสัจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีเอ็มซี อินฟอร์เมชัน ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โครงการบริการระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Service) ถือเป็นโครงการตัวอย่างที่รัฐบาลเป็นแกนนำในการนำคลาวด์เทคโนโลยีมาใช้งานจริง ซึ่งมีโมเดลคล้ายกับคลาวด์ภาครัฐของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งใช้แพลตฟอร์มของอีเอ็มซี ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนกระตุ้นให้องค์กรธุรกิจในประเทศไทยเริ่มหันมาลงทุนเรื่องของคลาวด์เทคโนโลยีมากขึ้น จากข้อมูลที่สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) ระบุว่า ในปีงบประมาณนี้ ภาครัฐมีลงทางด้านไอทีประมาณ 59,818 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 20.8% ของงบลงทุนทางด้านไอทีของประเทศ ส่วนใหญ่ประมาณ 75% เป็นงบสำหรับบำรุงรักษาระบบ ที่เหลือ 25% หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท เป็นงบสำหรับการลงทุนนวัตกรรใหม่ๆ แต่ภายหลังจากที่หน่วยงานภาครัฐเข้ามาบริการระบบคลาวด์ภาครัฐแล้วจะทำให้สัดส่วนดังกล่าวเปลี่ยนไป ทำให้หน่วยงานภาครัฐจะมีงบในการลงทุนนวัตกรรมใหม่มากขึ้น “คงไม่สามารถบอกได้ว่าสัดส่วนจะเปลี่ยนไปจะเป็นเท่าไร ขึ้นอยู่กับขนาดของการใช้คลาวด์ของแต่ละหน่วยงานว่า มากน้อยเพียงใดด้วย” นายนฐกร กล่าวถึงความพร้อมในการเข้าร่วมในโครงการบริการระบบคลาวด์ภาครัฐเฟสที่ 2 ว่า เวลานี้อีเอ็มซีมีความพร้อมในโซลูชันสำหรับคลาวด์ประมาณ 80% จึงทำให้มั่นใจว่า ทางอีเอ็มซีจะมีโอกาสที่เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการเฟสนี้ โดยจะทำตลาดผ่านพาร์ทเนอร์ที่ดูแลตลาดภาครัฐ เวลานี้องค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีความตื่นตัวในเรื่องนี้มากที่สุด เริ่มมีการย้ายระบบต่างๆ มาทำงานบนเวอร์ชัวร์ไลเซชัน โดยมีการพัฒนาแอปพลิเคชันบางส่วน อาทิ ระบบบิลลิ่ง มาเป็นโครงการนำร่องไปก่อน ขณะที่บริษัทขนาดกลางๆ ยังคงใช้ระบบไอทีแบบเดิมอยู่ ส่วนบริษัทรายย่อยฯ ยังรอให้ผู้ให้บริการคลาวด์เอกชนที่ในเวลานี้มีอยู่ด้วยประมาณ 7-8 บริษัท เข้ามาสร้างรูปแบบของการให้บริการขึ้นมา