ผู้ชื่นชอบการเดินเรือต้องมารวมกันทางนี้ เพราะครั้งนี้เราจะแนะนำให้คุณได้รู้จัก เรือ Energy Observer เรือยอชต์เดินสมุทรสัญชาติฝรั่งเศส เรือต้นแบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานทดแทนโซลาร์เซลล์-ไฮโดรเจนลำแรกของโลก ซึ่งมันจะมีความน่าสนใจอย่างไร ใครอยากรู้ ตามมาดูกันเลย
สรุปข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรือ Energy Observer ได้ดังนี้
- เรือลำนี้มีแผนการเดินทางรอบโลกภายใน 7 ปี เยือน 50 ประเทศ และท่าเรือ 101 แห่ง โดยเริ่มเดินทางจากประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ. 2560 แล่นไปทั่วทุกมหาสมุทรมาแล้วกว่า 48,000 ไมล์ทะเล แวะพักตามท่าเรือมาแล้วกว่า 71 แห่งในกว่า 40 ประเทศ ล่าสุดได้แวะมาเทียบท่าที่พัทยา ประเทศไทยเป็นเวลา 1 เดือน เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา
- สำหรับ Energy Observer เป็นลักษณะเรือรูปทรง “คาตามารัน” (Catamaran) ซึ่งเป็นเรือยอชต์เดินสมุทรที่มีลักษณะลำเรือสองลำ ความพิเศษของเรือที่เป็นรูปแบบนี้ คือจะทำให้เรือมีความเสถียรมากขึ้นเมื่อเผชิญกับกระแสคลื่นลมแปรปรวน ซึ่งจะช่วยให้เรือไม่โคลงเคลงไปตามกระแสคลื่นเหมือนกับเรือท้องลำเรือเดียว (Monohull) ขณะเดียวกันยังมีพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่าเรือแบบทั่วไป
- ความน่าสนใจของเรือลำนี้ Energy Observer คือเป็นต้นแบบการใช้พลังงานสะอาดจาก 3 ส่วน ได้แก่ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานไฮโดรเจนจากน้ำทะเล เสมือนเป็นห้องทดลองลอยน้ำที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อผลักดันเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกสำหรับเรือเดินสมุทรเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนต่อสิ่งแวดล้อม
- แหล่งพลังงานลม จากใบเรือที่มีชื่อและดีไซน์ลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า Oceanwings (โอเชียนวิงส์) ได้รับการออกแบบโดยบริษัท VPLP ทำจากวัสดุคอมโพสิตที่ทนทาน ดีไซน์ที่เรียบง่ายและถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ถูกออกแบบในลักษณะคล้ายกับปีกของเครื่องบิน ติดตั้งบนฐานที่สามารถหมุนได้รอบทิศอย่างอิสระผ่านการควบคุมอัตโนมัติ จากเซ็นเซอร์ลมที่ติดตั้งส่วนบนสุดของเสาใบเรือความสูง 8 เมตร ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถปรับทิศทางใบเรือให้สอดคล้องกับลักษณะลมได้ ช่วยเพิ่มความเร็วขณะแล่นใจกลางมหาสมุทร ทั้งช่วยสร้าง “สมดุล” การใช้พลังงานจากพลังงานโซลาร์และพลังงานไฮโดรเจนในขณะเดินทางระยะทางไกล ผ่านการอ่านค่าพารามิเตอร์เกี่ยวกับแรงลม, ความสูงคลื่น, ความเร็วในการเคลื่อนที่ ซึ่งช่วยกำหนดเส้นทางและความเร็วในการแล่นเรือที่เหมาะสมผ่านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- พลังงานแสงอาทิตย์ จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 165 ตร.ม. ทั่วพื้นผิวของเรือ โซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่มีลักษณะเฉพาะตัวด้วยการออกแบบให้พื้นผิวแผงโซลาร์เซลล์มีความขรุขระ พร้อมเคลือบสารกันลื่นและออกแบบมาให้ดัดโค้งรับรูปทรงตัวเรือ โซลาร์เซลล์ที่มีความขรุขระนี้นอกจากจะสะท้อนน้ำทะเลจากผิวแผงโซลาร์เพื่อให้แผงโซลาร์รับพลังงานได้อย่างเต็มที่แล้ว ยังสามารถเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากผิวน้ำได้อีกด้วย สามารถทำให้เรือมีกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 6 กิโลวัตต์ เพียงพอสำหรับการชาร์จแบตเตอร์รี่ Li-Ion
- พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของเรือลำนี้คือ ด้วยการสนับสนุนจากโตโยต้าผ่านการใช้เทคโนโลยี Toyota Fuel Cell ทำให้เรือสามารถผลิตและกักเก็บได้เองในรูปแบบไฮโดรเจนที่มาจากน้ำทะเล เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เรือลำนี้แล่นได้ด้วยตัวเองโดยสมบูรณ์ บนเรือมีเครื่องแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำทะเล ก๊าซไฮโดรเจนที่ได้จะถูกส่งไปเก็บไว้ในถังเก็บที่อยู่ส่วนทั้งสองข้างเรือทั้งหมด 8 ถัง รวมความจุ 332 ลิตรสามารถเก็บไฮโดรเจนได้ทั้งหมด 63 กก.
และนี่ก็คือเรือ Energy Observer ที่เราอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบถูกใจนักเดินเรือทุกคน เพราะจะเห็นได้ว่าเรือลำนี้ได้ผนวกพลังงานทางเลือกอันประกอบด้วย พลังลม แสงอาทิตย์ และไฮโดรเจน เข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นเรือที่สร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่และล้ำหน้ามากๆ