เฟซบุ๊ก (Facebook) ถือฤกษ์ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ยื่นเอกสารเพื่อนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นอย่างเป็นทางการ ในเอกสารระบุต้องการระดมทุนเพิ่ม 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทุบสถิติเป้าหมายเพิ่มทุนมูลค่าสูงที่สุดในกลุ่มบริษัทเว็บไซต์ ทิ้งห่างกูเกิล (Google) ที่ตั้งเป้าเพิ่มทุนเพียง 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อปี 2004 อย่างไรก็ตาม ในเอกสารยังไม่ระบุจำนวนหุ้นที่เฟซบุ๊กจะจำหน่ายเพิ่ม ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ราคาเสนอขายหุ้นครั้งแรกหรือ IPO ของเฟซบุ๊กได้ ข้อมูลเบื้องต้นมีเพียงเฟซบุ๊กจะใช้ตัวย่อในการซื้อขายคือ FB ตามข่าวลือ ภายใต้การดูแลของ Morgan Stanley ที่จะเป็นวาณิชธนกิจในการจำหน่ายหุ้น อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดเสียงฮือฮาจากการยื่นเอกสารเข้าตลาดหุ้นของ เฟซบุ๊กครั้งนี้ คือการเปิดเผยตัวเลขผลการดำเนินงานโดยละเอียดของบริษัท เนื่องจากที่ผ่านมา เฟซบุ๊กไม่เคยประกาศตัวเลขดังกล่าวบนข้ออ้างว่าบริษัทเป็นบริษัทเอกชนไม่ใช่ มหาชน ทำให้โลกต้องพึ่งพาข้อมูลจากนักวิเคราะห์และบริษัทวิจัยซึ่งได้แต่ประเมิน ตัวเลขคร่าวๆเท่านั้น ในเอกสาร เฟซบุ๊กเปิดเผยว่าบริษัทมีสมาชิกทั้งสิ้น 845 ล้านคน ยอดการอัปโหลดภาพเฉลี่ย 250 ล้านภาพต่อวัน ปริมาณการกด Like หรือการคลิกแสดงความชื่นชอบทะลุ 2.7 พันล้านครั้งต่อวัน โดยประเมินว่าจำนวนความเป็นเพื่อนหรือความสัมพันธ์ในเฟซบุ๊กนั้นทะลุ 1 แสนล้านความสัมพันธ์แล้ว ปี 2011 เฟซบุ๊กระบุว่าสามารถทำรายได้รวม 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นกำไรสุทธิ 1 พันล้านเหรียญ แม้จะถือว่ามากแล้วสำหรับบริษัทที่ก่อตั้งเพียง 8 ปี แต่ก็ยังน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เมื่อเทียบกับกูเกิลที่สามารถทำราย ได้รวม 3.8 หมื่นล้านเหรียญในปี 2011 เหตุที่เฟซบุ๊กถูกนำไปเปรียบเทียบกับกูเกิลบ่อยครั้งเป็นเพราะกูเกิล คือคู่แข่งรายสำคัญของเฟซบุ๊ก นับตั้งแต่ยักษ์ใหญ่เสิร์ชเอนจิ้นเปิดตัวเครือข่ายสังคม Google Plus หรือ Google+ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เฟซบุ๊กและกูเกิลก็ถูกจับตาในฐานะคู่แข่งของกันและกันมาตลอด โดยเฟซบุ๊กถูกลงความเห็นว่าเป็นเว็บไซต์ที่มีแนวโน้มสามารถแย่งรายได้ในวง การโฆษณาออนไลน์มาจากกูเกิลได้มากที่สุดในขณะนี้
ในเอกสารระบุว่า ซีอีโอเฟซบุ๊ก Mark Zuckerberg ซึ่งก่อตั้งเฟซบุ๊กในหอพักมหาวิทยาลัย Harvard University เมื่อ 8 ปีที่แล้วนั้นจะถือหุ้น 28% ราว 1 ใน 3 ของบริษัท แต่จะมีสิทธิ์ออกเสียงหรือลงคะแนนกับกรรมการบริหารเฟซบุ๊กมากถึง 57% เท่ากับเจ้าพ่อเฟซบุ๊กซึ่งเป็นชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุดจะเป็นศูนย์กลาง อำนาจในการบริหารเฟซบุ๊กต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง ที่น่าสนใจคือ เอกสารมีการระบุถึงกรณีที่ Mark Zuckerberg เสียชีวิต โดยอำนาจการบริหารทุกอย่างจะถูกส่งต่อไปยังบุคคลที่ Mark Zuckerberg ระบุให้เป็นทายาททางกฏหมายต่อไป เอกสารยังเปิดเผยว่า Mark Zuckerberg ได้รับเงินเดือนไปทั้งสิ้น 483,333 เหรียญสหรัฐในปี 2011 ที่ผ่านมา ยังไม่รวมเงินโบนัสมูลค่า 220,500 เหรียญสำหรับครึ่งปีแรกของปี 2011 รวมถึงค่าเบี้ยเลี้ยงพิเศษทั้งค่าเดินทาง ค่ารักษาความปลอดภัย และค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก 783,529 เหรียญ สำหรับ Sherly Sandberg ประธานฝ่ายปฏิบัติการหรือ chief operating officer นั้นได้รับเงินเดือนและโบนัส 381,966 เหรียญในปีที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ การรวมอำนาจบริหารไว้ที่ Mark Zuckerberg และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่ค่อนข้างสูงของเฟซบุ๊กถูกมองว่าเป็นความเสี่ยง ที่สำคัญของผู้ที่สนใจจะถือหุ้นเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ นโยบายเรื่องการไม่ยอมแสดงโฆษณาในแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กบนสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ พกพายังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เฟซบุ๊กไม่มีรายรับมากเท่าที่ควร ต่อจากนี้ เฟซบุ๊กจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (Securities and Exchange Commission) อย่างละเอียดก่อนจึงจะสามารถเข้าสู่การจำหน่ายหุ้นแก่มหาชนเพื่อระดมทุนต่อ ไป Company Related Link : Facebook