หากโฮวาร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) นักโบราณคดีอังกฤษผู้ค้นพบสุสานฟาโรห์ตุตันคาเมนสามารถใช้คอมพิวเตอร์ดูภาพถ่ายผ่านดาวเทียมได้ คาร์เตอร์คงสามารถค้นพบพีระมิดอื่นที่มากกว่าพีระมิดของยุวกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ เพราะล่าสุดนักวิจัยในสหรัฐฯ สามารถค้นพบฐานพีระมิดแห่งใหมที่ยังไม่เคยมีการระบุชื่อ ซึ่งเผยที่ตั้งในภาพจากบริการกูเกิลเอิร์ท (Google Earth) อย่างชัดเจน ข่าวนี้สะท้อนว่าทุกคนบนโลกสามารถค้นหาสมบัติที่หายไปของโลกได้จากบริการกูเกิลเอิร์ท บริการที่ชาวออนไลน์จะสามารถชมภาพถ่ายผ่านดาวเทียมเพื่อสำรวจโลกได้อย่างสะดวกสบายและไม่สิ้นเปลือง โดยนักวิจัยอเมริกันที่สามารถใช้กูเกิลเอิร์ทค้นพบตำแหน่งสถานที่ประวัติศาสตร์มีชื่อว่า “แองเจลา มิคอล (Angela Micol)” ซึ่งสื่อมวลชนยกตำแหน่งให้อย่างไม่เป็นทางการว่านักโบราณคดีผ่านดาวเทียม (satellite archaeology researcher) มิคอลนั้นอาศัยในนอร์ทแคโลไรนา แต่สามารถใช้กูเกิลเอิร์ทสำรวจสถานที่ที่คาดว่าจะเป็นพีระมิดที่ยังไม่เคยมีการสำรวจพบจำนวน 2 จุด โดยทั้ง 2 สถานที่นี้มีลักษณะเหมือนฐานพีระมิดโบราณไม่ผิดเพี้ยน จุดแรกคาดว่ามีฐานกว้าง 42.6 เมตรบนส่วนยอดแบนราบ เบื้องต้นคาดว่าเป็นผลจากการพังทลายที่ยอดพีระมิด นอกจากนี้ยังพบฐานหินอีก 3 กองกระจายในส่วนท้าย ซึ่งการจัดเรียงลักษณะนี้มีความคล้ายกับการจัดเรียงพีระมิดชื่อก้องโลกที่กิซา (Giza) นักวิเคราะห์เชื่อว่าฐานหินที่พบนั้นมีโอกาสเป็นพีระมิดโบราณสูง เพราะฐานหินดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจากเมือง Dimai ไปทางตะวันออกราว 2 ไมล์ เมืองดังกล่าวเป็นเมืองโบราณที่มีหลักฐานว่าก่อตั้งโดยกษัตริย์ Ptolemy II (กษัตริย์ทอเลมีที่ 2) ซึ่งขุดพบโครงสร้างสิ่งปลูกสร้างจากอิฐ ดิน และหิน ซึ่งเป็นวัสดุเดียวกับสถานที่ปรักหักพังในเมืองโบราณในอียิปต์ สถานที่ประวัติศาสตร์อีกจุดที่มีการพบบนกูเกิลเอิร์ทนั้นอยู่ห่างจากเมือง Abu Sidhum ราว 12 ไมล์ (ใกล้กับแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของพีระมิดโบราณของอียิปต์ส่วนใหญ่) ลักษณะที่พบคือฐานหิน 4 จุดซึ่งมียอดเป็นรูปสามเหลี่ยม โดย 2 ฐานมีขนาดใหญ่ 76.2 ฟุต ขณะที่อีก 2 ฐานมีขนาดเล็กกว่าราว 30.48 ฟุต ทั้ง 4 ฐานหินถูกจัดวางในลักษณะเดียวกับพีระมิดเช่นกัน กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นการตอกย้ำว่ากูเกิลเอิร์ทนั้นเป็นเครื่องมือในการสำรวจโลกที่ทำได้ง่ายและได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก ซึ่งในกรณีนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านพีระมิดและอารยธรรมอียิปต์โบราณอย่าง Nabil Selim แสดงความเชื่อมั่นว่าฐานหินที่พบอาจจะเป็นพีระมิดโบราณจริง เพราะสถานที่เก็บซ่อนอารยธรรมอียิปต์โบราณอาจจะมีมากมาย และที่มีการสำรวจพบแล้วอาจจะมีจำนวนไม่ถึง 1% นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เทคโนโลยีท่องโลกแบบเสมือนสามารถทำให้โลกค้นพบสมบัติที่หายไปในอียิปต์ โดยปีที่ผ่านมาศาสตราจารย์ด้านอียิปต์และอาหรับอย่างซาราห์ พาร์คาก (Sarah Parcak) ประกาศว่าเธอได้ค้นพบพีระมิด 17 แห่ง แหล่งชุมชนโบราณ 3,100 แห่ง และสุสานมากกว่า 1,000 จุด เพราะความช่วยเหลือจากภาพถ่ายอินฟราเรดผ่านดาวเทียม
ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9550000099900