เอชทีซี (HTC) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่สัญชาติไต้หวันสุดเซ็งหลังมูลค่าหุ้นตกต่ำที่สุดใน รอบ 6 เดือน เหตุเพราะนักลงทุนหวั่นใจว่าสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์แบรนด์เอชทีซีอาจถูกสั่งห้าม จำหน่ายในสหรัฐฯ เนื่องจากคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯตัดสินเบื้องต้นว่าเอชที ซีเป็นฝ่ายละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีของแอปเปิลจำนวน 2 จุด ด้านเอชทีซียืนยันจะอุทธรณ์ขอความเป็นธรรมก่อนผลตัดสินจะถูกยืนยันอย่างเป็น ทางการ ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้หุ้นของเอชทีซีจะผันผวนต่อไปอีกในช่วง 12-18 เดือนนับจากนี้ แดเนียล ชาง นักวิเคราะห์จากบริษัทแมคไควร์กรุ้ป ประเมินว่ามูลค่าหุ้นของเอชทีซีจะแกว่งตัวต่อเนื่องในช่วง 1 ปีข้างหน้าเพราะคดีความฟ้องร้องเรื่องสิทธิบัตรเทคโนโลยีระหว่างเอชทีซีและ แอปเปิลที่เกิดขึ้น โดยชี้ว่าในระยะยาว สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ของเอชทีซีจะมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น มีผลเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการทำกำไรของเอชทีซีในอนาคต ซึ่งทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่าเอชทีซีจะทำกำไรได้มากขึ้นหรือน้อยกว่า เดิม เอชทีซีนั้นมีดีกรีเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของเอเชีย ซึ่งล่าสุดถูกคณะกรรมการ U.S. International Trade Commission หรือ ITC ตัดสินว่าเอชทีซีเป็นฝ่ายละเมิดสิทธิบัตรแอปเปิลจำนวน 2 ใน 10 จุดที่แอปเปิลยื่นฟ้องไป ทำให้มูลค่าหุ้นเอชทีซีดิ่งลงอีก 4.1% ไปอยู่ที่ 870 เหรียญไต้หวัน ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นเอชทีซีนับตั้งแต่วันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นเอชทีซีที่ตกต่ำลงอย่างรวดเร็วเป็นผลให้ดัชนีหุ้นตลาด ไต้หวัน Taiex ทิ้งตัวลง 0.8% ด้วย เบ็ดเสร็จแล้วหุ้นเอชทีซีตก 11% หลังจากแอปเปิลส่งฟ้องเอชทีซีรอบ 2 ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา เอชทีซีเดินหน้าอุทธรณ์ เอชทีซีนั้นออกแถลงการณ์ว่า จะเดินหน้าอุทธรณ์ก่อนที่คณะกรรมการ ITC ทั้ง 6 จะลงมติอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งหากแอปเปิลและเอชทีซียังไม่สามารถทำข้อตกลงร่วมกันได้ ITC จะมีอำนาจสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์แอนดรอยด์ของเอชทีซีเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ ทันที สิทธิบัตรเทคโนโลยีที่เอชทีซีถูกคณะอนุกรรมการ ITC ตัดสินเบื้องต้นว่าละเมิดแอปเปิลนั้นได้แก่ เทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจจับและประมวลผลข้อมูลซึ่งใช้ในกระบวนการรับส่งอีเม ลและข้อความ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการโอนถ่ายข้อมูล อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าสิทธิบัตรเทคโนโลยีทั้ง 2 จุดนั้นเกี่ยวพันกับระบบสัมผัสมัลติทัชและระบบการทำงานหลักของสมาร์ทโฟนแอ นดรอยด์ทุกเครื่อง ซึ่งหากพิจารณาตามเกณฑ์ตัดสินของ ITC จะพบว่าโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์หลายล้านเครื่องที่ไม่ใช่เพียงแบรนด์เอชทีซี ก็มีโอกาสเข้าข่ายละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีแอปเปิลเช่นกัน จุดนี้สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่าสิทธิบัตรเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีของ คอมพิวเตอร์แมคอินทอชซึ่งจดสิทธิบัตรไว้ตั้งแต่ปี 1994-1996 ดังนั้นการที่สมาร์ทโฟนเริ่มมีความสามารถคล้ายคลึงกับคอมพิวเตอร์ย่อมทำให้ เกิดการละเมิดสิทธิบัตรเหล่านี้ได้ง่ายเป็นธรรมดา การตัดสินของ ITC จึงมีความท้าทายอย่างมาก และจะมีผลต่อการชี้เป็นชี้ตายให้กับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์อื่นๆในตลาด เปิดแผนซื้อคืนหุ้น ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่าคดีละเมิดสิทธิบัตรระหว่างเอชทีซีและแอ ปเปิลจะเป็นเช่นไร เอชทีซีจะเริ่มดำเนินการปกป้องตัวเองด้วยการซื้อคืนหุ้น 20 ล้านหุ้นภายในวันที่ 17 กันยายนนี้ โดยเอชทีซีได้ยื่นจดหมายชี้แจงแผนการซื้อคืนหุ้นตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา คาดว่าหุ้นที่ถูกซื้อคืนราวครึ่งหนึ่งจะถูกส่งต่อให้พนักงานเป็นผู้ถือ อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่าเอชทีซีไม่ได้เป็นฝ่ายเสียเปรียบทั้งหมด เพราะเอชทีซีเพิ่งสามารถเข้าซื้อบริษัทผลิตชิปกราฟิกวิดีโอเกม S3 Graphics Co. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมในราคา 300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย S3 Graphics นั้นเคยชนะแอปเปิล ซึ่งศาลตัดสินให้แอปเปิลต้องจ่ายเงินค่าสิทธิบัตรให้บริษัท S3 Graphics แล้วก่อนหน้านี้ การเป็นเจ้าของบริษัท S3 Graphics จึงทำให้เอชทีซีมีแต้มต่อในการฟ้องกลับแอปเปิล ซึ่งมีกำหนดการพิจารณาคดีวันที่ 16 กันยายนนี้ เอชทีซีไม่ใช่รายแรกที่จะต้องอยู่ภายใต้การตัดสินคดีสิทธิบัตรของ ITC โดยก่อนหน้านี้ ยักษ์ใหญ่ฟินแลนด์อย่าง Nokia Oyj เพิ่งสามารถบรรลุข้อตกลงกับแอปเปิลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยแอปเปิลตัดสินใจจ่ายค่าสิทธิบัตรเทคโนโลยีให้โนเกียโดยไม่เปิดเผยมูลค่า Company Related Link: HTC @CyberBiz