น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ไอซีทีจะเดินหน้าสานต่อนโยบายสมาร์ท ไทยแลนด์ของรัฐบาลเพื่อที่จะใช้เป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยทำอันดับการแข่งขัน และขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขึ่นไปสู่อันดับที่ 34 ภายในปี 2558 จากเดิมที่เคยทำได้มาแล้วในปี 2549 ซึ่งถือเป็นอันดับโลกที่สูงที่สุดของไทย เนื่องจากล่าสุดในปี 2555 นี้ไทยตกลงมาอยู่ที่อันดับ 77 อย่างไรก็ดีสาเหตุที่ทำให้อันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยมีการ กระจายตัวของไอซีทีแต่ส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งมากกว่าในต่างจังหวัดหรือชนบท โดยกทม.มีครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ 35.6% ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเพียง 7.3% ภาคกลาง 15% เหนือ 12.1% ใต้ 10.5% ทั้งนี้เมื่อเฉลี่ยทั่วประเทศอัตราการเข้าถึงอยู่ที่ 13.4% คิดเป็น 2.56 ล้านครัวเรือน จากจำนวน 22 ล้านครัวเรือนเท่านั้น ขณะเดียวกันพบว่าประชากรโลกมากกว่า 90% สามารถเข้าถึงโครงข่าย 2G ขณะที่ 45% เข้าถึงโครงข่าย 3G ได้ แต่ในไทยอัตรการเข้าถึง 3G ยังมีน้อยอยู่มากไม่ถึง 10% “ในอดีตประเทศไทยเคยเป็นต้นแบบของการพัฒนาทางด้านไอซีทีในพื้นที่ห่างไกล (ICT in village) และเป็นที่ยอมรับขององค์กรระหว่างประเทศในการดำเนินการเพื่อลดความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงไอซีทีของประชาชนที่อยู่ในชนบทห่างไกลด้วย” ดังนั้นไอซีทีจึงวางเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) และการเพิ่มประสิทธิภาพจากโครงสร้างพื้นฐาน โดยภายในปี 2558 ประเทศไทยจะต้องมีครัวเรือนที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ 80% ของประชากร จากปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงได้เพียงแค่ 35% เท่านั้น “เรามั่นใจว่าด้วยนโยบายสมาร์ทไทยแลนด์ และการให้บริการWi-Fiฟรี รวมถึงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การที่กสทช.จะเปิดประมูลใบอนุญาต (ไลเซ่น) 3G 2.1 GHz ในเดือนต.ค.นี้ จะทำให้อันดับของไทยกลับมาจุดสูงสุดเดิมที่เราเคยได้แน่นอน” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ล่าสุดไอซีทีควักงบประมาณราว 20 ล้านบาท เตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับโลก ว่าด้วยตัวชี้วัดด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศปี 2555 ร่วมกับ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) กำหนดจะจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยตัวชี้วัดด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10 (World Telecommunication/ICT Indicators Meeting : WTIM 2012) ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 25 -27 ก.ย.นี้ ทั้งนี้วัตถุประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้ก็เพื่อมุ่งเน้นการนำเสนอค่าสถิติต่างๆ ที่ใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีและตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศ เพื่อให้ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวง หน่วยงานสถิติแห่งชาติ ผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม นักวิชาการ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติและการจัดทำตัวชี้วัดสังคมสารสนเทศ จากประเทศสมาชิกไอทียูจำนวน 193 ประเทศทั่วโลก รวมประมาณกว่า 400 คนที่คาดว่าจะเข้าร่วมประชุม ส่วนรายละเอียดในการประชุมฯ จะนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น การชี้วัดเรื่องบรอดแบนด์ ทั้งด้านราคา ความเร็ว และขีดความสามารถ ในประเด็นด้านการศึกษา ธุรกิจ และความมั่นคงปลอดภัย การทบทวนและปรับปรุงแก้ไขตัวชี้วัดเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารระดับครัวเรือน และการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระดับบุคคล รวมทั้งประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การชี้วัดเรื่องการส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และเนื้อหาที่แสดงผ่านอินเทอร์เน็ต