ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์รายนี้ ระบุว่า ชิพประมวลผล “คอร์-ไอ” รุ่นที่ 4 ของอินเทลใช้งานได้ในรูปของควอดคอร์ สำหรับคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ และโน้ตบุ๊ค ส่วนรุ่นประหยัดพลังงานสำหรับอัลตราบุ๊ค และโน้ตบุ๊คกึ่งแทบเล็ต อาจจะออกสู่ตลาดภายในปีนี้ ความเคลื่อนไหวข้างต้นเกิดขึ้นหลังเมื่อเร็วๆ นี้ อินเทลเพิ่งประสบความสำเร็จทางธุรกิจครั้งใหม่ เมื่อซัมซุง ยักษ์ใหญ่ด้านสมาร์ทโฟน จากเกาหลีใตจ้ ประกาศว่า แทบเล็ตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์รุ่นใหม่ของบริษัท จะทำงานด้วยตัวประมวลผลของอินเทล ตัวประมวลผลรุ่นใหม่ของอินเทล ใช้ประโยชน์จากสถาปัตยกรรมของชิพประมวลผลฮาสเวลล์ จะเข้ามาแทนตัวประมวลผลคอร์-ไอ รุ่นที่ 3 ซึ่งใช้สถาปัตยกรรมของชิพประมวลผลไอวี่ บริดจ์ ผู้ใช้งานสามารถแยกความแตกต่างระหว่างตัวประมวลผลทั้ง 2 รุ่นได้จากหมายเลขที่อยู่ต่อท้า โดยหมายเลข 3 หมายถึงรุ่นไอวี่ บริดจ์ ขณะที่เลข 4 หมายถึงฮาสเวลล์ และคาดว่าตัวประมวลผลอะตอม แบบควอดคอร์สำหรับแทบเล็ตไม่มีพัดลมระบายอากาศ ที่ชื่อว่า “เบย์ เทรล-ที” จะเปิดตัวในช่วงคริสต์มาสนี้ เช่นเดียวกับชิพรุ่นเอ็กซ์เอ็มเอ็ม 7160 อินเทลยังมีแผนที่จะผลิตชิพอะตอมตัวใหม่สำหรับสมาร์ทโฟนที่ชื่อว่า “เมอร์ริฟิลด์” แต่คาดว่าอาจยังไม่วางขายก่อนปี 2557 โดยตลาดสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ใช้ชิพที่ออกแบบโดยผู้ผลิตจากอังกฤษชื่อเออาร์เอ็ม ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นที่ประหยัดพลังงานอย่างยิ่ง นายทอม คิลรอย ผู้จัดการของอินเทลกล่าวในงานคอมพิวเท็กซ์ว่า ชิพของเมอร์ริฟิลด์น่าจะใช้พลังงานน้อยกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ 50% ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรีได้อย่างมาก โดยชิพรุ่นนี้จะใช้สถาปัตยกรรมของชิพประมวลผลซิลเวอร์มอนต์ตัวใหม่ เช่นเดียวกับฮาสเวลล์ และไอวี่ บริดจ์ โครงสร้างของชิพซิลเวอร์มอนต์มีขนาดเล็กจิ๋วถึง 22 นาโนเมตร โดยซีพียูอะตอมรุ่นปัจจุบันมีขนาดอยู่ที่ 32 นาโนเมตร