เลอโนโวชี้แจงว่าดีลที่เกิดขึ้นมีมูลค่าการซื้อขายบริษัทที่ราว 300 ล้านเรียลบราซิล (ราว 4.5 พันล้านบาท) โดยเชื่อว่าดีลนี้จะช่วยให้เลอโนโวมีส่วนแบ่งตลาดพีซีเพิ่มเท่าตัวในตลาดบราซิล โดยบราซิลนั้นเป็นตลาดสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ซีซีอีนั้นมีดีกรีเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดในประเทศบราซิล การที่เลอโนโวซื้อกิจการซีซีอีครั้งนี้จะทำให้ยักษ์ใหญ่แดนมังกรสามารถผลิตและส่งสินค้าตระกูลสมาร์ทโฟนรวมถึงทีวีสู่ตลาดบราซิลเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการขยายธุรกิจที่ครอบคลุมนอกเหนือส่วนธุรกิจคอร์ปอเรทอย่างชัดเจน หยาง หยวนชิง ประธานและซีอีโอเลอโนโวแถลงว่าซีซีอีนั้นเหมาะสมกับ 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัท และยังเป็นสายการผลิตที่มีประสิทธิภาพในบราซิล จุดนี้น่าสนใจมากเพราะบราซิลนั้นเป็นตลาดเกิดใหม่หรือ emerging market ที่มีมูลค่าสูงรองจากจีน การซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้เลอโนโวสามารถเข้าสู่ตลาดใหญ่ของโลกทั้ง 2 แห่งอย่างเต็มที่ แม้นักสังเกตการณ์จะเชื่อว่าจีนจะยังคงเป็นตลาดหลักที่ผลักดันยอดขายของเลอโนโวต่อไป เพราะที่ผ่านมา ตลาดจีนเป็นพื้นที่ซึ่งทำรายได้ถึง 42% ของรายได้รวมเลอโนโว แต่ก่อนหน้านี้ เลอโนโวเริ่มเห็นแนวโน้มการหดตัวของความต้องการในประเทศ ทำให้บริษัทต้องรีบขยายธุรกิจไปยังนอกภูมิภาค ซึ่งกลยุทธ์หลักที่เลอโนโวเลือกคือการเทเงินซื้อกิจการอย่างที่เคยทำ เลอโนโวแถลงว่าทั้งหมดเป็นนโยบายเพื่อเป้าหมายการเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในตลาดเกิดใหม่ของโลก ซึ่งบริษัทหวังว่าจะทำได้สำเร็จในบราซิลเช่นกัน โดยตลาดเกิดใหม่ที่เลอโนโวพุ่งเป้าในฐานะตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดนั้นได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งเรียกรวมว่า BRIC (Brazil, Russia, India, China) ตามข้อมูลจากบริษัทวิจัย Morgan Stanley พบว่าบราซิลเป็นพื้นที่หลักที่เลอโนโวขาดทุนมากที่สุด เนื่องจากสัดส่วนภาษีนำเข้าสินค้าที่สูง และกระบวนการจัดส่งสินค้าที่ไม่แข็งแรง ซึ่งการซื้อกิจการซีซีอีครั้งนี้ย่อมทำให้เลอโนโวสามารถหาทางออกที่เกิดขึ้นได้ ซีซีอีนั้นมีโรงงานในบราซิลทั้งสิ้น 7 แห่ง ทำรายได้รวม 1.6 พันล้านเรียลบราซิลในปี 2011 ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ ซีซีอีเคยให้ข้อมูลว่าสามารถผลิตคอมพิวเตอร์พีซี 774,000 เครื่องในปีที่ผ่านมา และประเมินว่าจะประกอบคอมพิวเตอร์พีซีได้ราว 887,000 เครื่องในปีนี้ (2012)