Line แอพพลิเคชั่น ซึ่งมีผู้ใช้มากกว่า 70 ล้านคนในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่ให้บริการรับส่งข้อความทันใจ (ไอเอ็ม) และโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีรูปแบบเดียวกับบริการของสไกป์ แต่บริษัทที่อยู่เบื้องหลัง “ไลน์” ต้องการจะเป็นมากกว่าระบบการส่งข้อความ เพื่อเป็นแอพทางเลือกที่พัฒนาขึ้นในเอเชีย เมื่อเทียบกับบริการและเครือข่ายสังคมยอดนิยมจากสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ บริษัทผู้พัฒนาเกม”ซิงก้า” และบริการแบ่งปันรูปถ่าย”อินสตาแกรม” “หลังจากไลน์เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ใช้แถบเอเชีย ตอนนี้บริษัท วางแผนจะขยายไปสหรัฐ ยุโรป และที่อื่นๆ” อากิระ โมริกาว่า หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของเอ็นเอชเอ็น ประจำญี่ปุ่น ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น”ไลน์” กล่าว โดยเอ็นเอชเอ็น ประจำญี่ปุ่น เป็นธุรกิจในเครือของเอ็นเอชเอ็น คอร์ป. จากเกาหลีใต้ ผู้ให้บริการ”นาเวอร์”เครื่องมือค้นหา และเวบท่า ซึ่งมีคุณลักษณะผสมระหว่างกูเกิลแ ละยาฮู ในแดนโสมขาว เมื่อลงทะเบียนเปิดใช้บริการแล้ว ไลน์จะค้นหาผู้ใช้คนอื่นโดยอัตโนมัติ จากรายชื่อผู้ติดต่อ ที่เก็บไว้ในสมาร์ทโฟน แต่ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะลบรายชื่อผู้ติดต่อบางคนในสมาร์ทโฟนออกจากรายชื่อผู้ติดต่อในไลน์ได้หากต้องการ ทั้งยังสามารถเพิ่มรายชื่อผู้ติดต่อใหม่ๆ ในไลน์ได้ด้วยการแลกเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ (ยูสเซอร์เนม) โดยไม่ต้องแลกเบอร์มือถือกัน ผู้ใช้ไลน์ สามารถเลือกส่งข้อความเป็นตัวอักษรธรรมดา หรืออีโมติคอน สติกเกอร์เสมือนที่มีสีสันสดใส หรือการ์ตูนที่มีทั้งความน่ารักและความประหลาดก็ได้ แม้จะได้รับความนิยม แต่ยังมีอุปสรรคก้อนโตที่ไลน์ต้องเจอ เมื่อในตลาดแอพพลิเคชั่น เพื่อการสื่อสารนั้น อัดแน่นไปด้วยคู่แข่งตัวฉกาจ รวมถึง สไกป์ วอทส์แอพ และกองทัพบริการรับส่งข้อความเจ้าอื่น เฉพาะในเอเชียเพียงทวีปเดียว ไลน์ต้องแข่งกับ”กาเกา ทอล์ค” ในเกาหลีใต้ และบริการ”เวบแชท” ของเทนเซนต์ โฮลดิ้ง จำกัด ที่มียอดผู้ใช้ในจีนร่วม 200 ล้านคน เจสซิก้า กี่ นักวิเคราะห์ของคานาลิสต์ บริษัทวิจัยตลาดในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า เป็นความท้าท้ายครั้งใหญ่ของไลน์ที่จะเข้าไปทำตลาดในประเทศที่มีบริการที่โดดเด่นอยู่แล้ว เนื่องจาก ผู้ใช้มักไม่ต้องการใช้หลายแพลตฟอร์มในการรับส่งข้อความทันใจ เธอตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ไลน์ แทบจะไม่เป็นที่รู้จักในภูมิภาคอื่นนอกเอเชีย และสติกเกอร์เสมือนที่ว่าน่ารักในหมู่ผู้ใช้ชาวเอเชีย อาจจะไม่ถูกใจผู้คนจากส่วนอื่นของโลกก็เป็นได้ ด้านโยชิยา นากามูระ นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทวิจัยเนลเซ่น กล่าวว่า ประเทศในเอเชียบางประเทศมีเวบไซต์เครือข่ายสังคมที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทในประเทศ และส่วนใหญ่มักจะไม่ขยายไปทำตลาดในต่างประเทศ ขณะที่จากสถิติ บ่งชี้ชัดว่า เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ได้รับความนิยมไปทั่วเอเชีย แต่โมริกาว่า ระบุว่า จุดแข็งของ”ไลน์” คือ การเป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ และแม้สไกป์และเฟซบุ๊ค อาจมีภาพของการเป็นตัวกลางที่เชื่อมสื่อสังคมกับโปรแกรมสนทนาเข้าไว้ด้วยกันของยุคพีซี แต่ไลน์เชื่อมั่นว่าบริษัทมีศักยภาพจะทำแบบเดียวกันได้สำหรับยุคสมาร์ทโฟน สแตทเคาน์เตอร์ บริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต พบว่า สัดส่วนของการท่องเวบผ่านอุปกรณ์พกพากำลังไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อเดือนก.ย. มีการเข้าใช้เวบไซต์ผ่านอุปกรณ์พกพาคิดเป็นสัดส่วน 12% ของการท่องอินเทอร์เน็ตทุกประเภท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้