หลังจากกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เปิดตัวโครงการห้องเรียนอัจฉริยะมาตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. เพื่อทำการศึกษาและเป็นห้องเรียนต้นแบบที่นำแท็บเล็ตมาใช้ในการเรียนการสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 4 โรงเรียนในสังกัดของกรุงเทพมหานคร ล่าสุดเมื่อช่วงสัปดาห์ต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา นางเทรซี่ย์ เฟลโลว์ส ประธาน ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้เดินทางมาประเทศไทย ทาง นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้พาผู้บริหารไมโครซอฟท์และสื่อมวลชนติดตามความคืบหน้าของโครงการที่โรงเรียนนาหลวง ถนนพุทธบูชา เขตทุ่งครุ กทม. นางทยา ทีปสุวรรณ กล่าวว่า โครงการห้องเรียนอัจฉริยะได้เริ่มนำร่องนำแท็บแล็ตมาใช้ในการเรียนกับเด็กประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 ใน 4 โรงเรียน ซึ่งแต่ละแห่งใช้แท็บเล็ตที่มีระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกัน 4 แบบ โดยโรงเรียนนาหลวงใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส 8 ผลที่เห็นจากโครงการ คือเด็ก ๆ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนนาหลวง ได้ฝึกการใช้แท็บเล็ตในการเรียน ได้เขียนโปรแกรมเกมอย่างง่าย ๆ และใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในวินโดว์ส 8 อย่างดี เมื่อเสร็จสิ้นโครงการในเดือน ต.ค.นี้ ทางกรุงเทพมหานครจะว่าจ้างให้ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เข้ามาประเมินผลของโครงการทั้งหมด โดยนำไปเทียบกับเด็กที่ไม่ได้ใช้แท็บเล็ต คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ทราบว่าระบบปฏิบัติการใดจะเหมาะสมกับเด็กของกทม.มากที่สุด แล้วจากนั้นจึงจะพิจารณาว่าจะขยายโครงการต่อไปในอนาคตหรือไม่ ซึ่งหากจะดำเนินการต่อก็จะทำกับเด็กประถมศึกษาปีที่ 4 เพราะเป็นวัยที่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในการใช้โปรแกรมและเครื่องมือต่าง ๆ ได้ดี ส่วนโครงการแจกแท็บเล็ตเด็ก ป.1 ของรัฐบาล ทาง กทม.ได้รับการจัดสรรในลอตแรกจำนวน 4 หมื่นเครื่อง ได้เริ่มนำไปแจกให้โรงเรียนในสังกัด ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อเด็กทั้งหมด ต้องรอการจัดสรรในลอตต่อไป ทั้งไมโครซอฟท์ ประเทศไทยและ กทม. ได้สนับสนุนแท็บเล็ต เอเซอร์ ไอคอเนีย ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส 8 พรีวิว และแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ และเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ Microsoft Math โปรแกรม Kodu Game Lab เพื่อใช้สร้างเกมสามมิติ รวมถึงโปรแกรมสร้างเสริมปฏิสัมพันธ์ในการเรียนการสอน (Interactive Classroom) ซึ่งทำให้ครูและนักเรียนสามารถโต้ตอบและแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านโปรแกรมเพาเวอร์พ้อยท์ (PowerPoint) และ วัน โน้ต (One Notes) เพื่อให้การเรียนสนุกมากขึ้น นางเทรซี่ย์ เฟลโลว์ส กล่าวว่า โรงเรียนนาหลวงถือเป็นโรงเรียนแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ได้ทดลองใช้วินโดว์ส 8 ในแท็บเล็ต ใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งแอพพลิเคชั่นและคอนเทนต์หรือเนื้อหาต่าง ๆทางไมโครซอฟท์พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในด้านการศึกษา ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือการเขียนโปรแกรมแบบง่าย ๆ สำหรับเด็ก สำหรับการใช้แท็บเล็ตในการเรียนนั้น สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ แต่อยู่ที่คอนเทนต์ การใช้โปรแกรมการเรียนรู้ วิธีการเรียน รวมถึงครูผู้สอน หากทำให้เด็กได้เริ่มเรียนรู้ได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี ส่วน นายภัทร ยงวณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับภาครัฐในการอบรมครูในโครงการ Partners in Learning มากว่า 10 ปี มีครูผ่านการอบรมมากว่า 1 แสนราย หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของครูทั้งประเทศ ซึ่งทุกปีได้มีการนำครูที่ผ่านการอบรมเข้าร่วมแข่งขันในระดับโลก ซึ่งปีที่ผ่านมาจัดขึ้นที่นิวซีแลนด์ ครูไทยก็สามารถคว้ารางวัลระดับโลกในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน ซึ่งบริษัทเข้าสนับสนุนเรื่องการศึกษาไม่ได้มองเรื่องรายได้แต่เห็นว่าทำอย่างไรจะนำเทคโนโลยีไปส่งเสริมคุณภาพการศึกษาได้ โดยเฉพาะหลังเปิดเออีซี ปี ค.ศ. 2015 เพื่อให้เด็กไทยจะแข่งขันกับเด็กประเทศอื่นได้ ซึ่งก็พร้อมขยายโครงการหากได้รับการร้องขอจากภาครัฐ ด้านคุณครูที่ต้องเป็นผู้สอนและดูแลนักเรียนในการใช้แท็บเล็ต คือ น.ส.รดาณัฐ น้อยศรี ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/3 กล่าวว่า เด็กเริ่มใช้แท็บเล็ตในการเรียนตั้งแต่เดือน มิ.ย. ซึ่งได้ใช้เรียนในเกือบทุกวิชา อาทิ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาโตไปไม่โกงของ กทม. เป็นต้น ซึ่งส่งผลดีทำให้เด็กได้เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ไอที ได้ฝึกการสร้างคอนเทนต์อย่างง่าย ๆ ด้วยโปรแกรมในเครื่องแล้วนำมาใช้ในการเรียน นอกจากนี้ยังทำให้เด็กมีความกระตือรือร้นอยากจะเรียนอยากใช้แท็บเล็ต ทำให้อัตราการขาดเรียนก็น้อยลง ส่วน ด.ญ.มนทิรา โก่งกระโทก และ ด.ญ.สุกัญญา นามเหลา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/3 ร่วมกันกล่าวว่า เมื่อได้ทดลองใช้แท็บเล็ตในการเรียนทำให้ได้เรียนสนุกอยากเรียนมากขึ้นและได้ทดลองทำสื่อการเรียนด้วยโปรแกรมในเครื่อง ในอนาคตก็อยากมีแท็บเล็ตไว้ใช้เรียนต่อไปเพราะจะได้เรียนรู้เรื่องไอทีและสนใจเรียนมากขึ้น อย่างไรก็ตามคงต้องรอการประเมินผลของหน่วยงานภายนอกว่าผลการใช้แท็บ เล็ตจะส่งผลดีต่อการเรียนของเด็กจริงหรือไม่? ปลายปีรู้กัน!. [code] Data : http://www.dailynews.co.th/technology/159614 [/code]