การอำลาเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ไมโครซอฟท์อย่างกะทันหันของสตีเวน ซินอฟสกี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน ถือว่าเป็นจังหวะดีที่ สตีฟ บัลเมอร์ ซีอีโอบริษัทซอฟต์แวรยักษ์ใหญ่ผู้ให้กำเนิดระบบปฏิบัติการวินโดวส์จะได้ปรับโฉมหน้าไมโครซอฟท์ให้เป็นองค์กรที่มีระบบบริหารจัดการที่หลอมรวมเป็นก้อนเดียวกันมากขึ้นเพื่อให้ทันเกมคู่แข่งอย่างกูเกิ้ล และแอ๊ปเปิ้ล อิงค์ ซินอฟสกี้ นั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูงของไมโครซอฟท์มานานถึง 13 ปี และยังเป็นลูกหม้อเก่าแก่ ที่ทำงานกับไมโครซอฟท์มานานถึง 23 ปี ถือเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่รายนี้ ซึ่งเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมายังได้เปิดตัวคอมพิวเตอร์แทบเล็ต “เซอร์เฟซ” ขนาดหน้าจอ 10.6 นิ้วภายใต้ยี่ห้อของตัวเองในทำนองเดียวกับแอ๊ปเปิ้ลที่ออกไอแพด-ไอโฟน ที่ควบทั้งระบบปฏิบัติการของตัวเองและตัวอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ การโบกมืออำลาของซินอฟสกี้ถูกจับตามองว่า เป็นจังหวะที่ดีสำหรับบัลเมอร์จะหันมาให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการทำงานภายในองค์กรของไมโครซอฟท์ในหน่วยต่างๆ ที่แยกตัวเป็นเอกเทศเกินไป และบางครั้งก็ขัดแข้งขัดขากันเองด้วย พนักงานไมโครซอฟท์รายหนึ่ง ที่ไม่ขอเปิดเผยนามบอกว่า ตัวเขาเองได้ยินเวทย์มนต์ ที่ถูกร่ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อสะกดให้พนักงานทำงานร่วมกัน และการทำงานร่วมกันในแนวระนาบ เนื่องจากบรรดาผู้บริหารต่างรู้ดีว่าถ้าพวกเขาไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อให้การพัฒนาอุปกรณ์ด้านฮาร์ดแวร์กับทีมพัฒนาซอฟท์แวร์ของไมโครซอฟท์ทำงานประสานกันทั้งระบบ มันอาจกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของไมโครซอฟท์ในอนาคต ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ตะเกียกตะกายอย่างหนัก และล่าสุด ยักษ์ใหญ่ซอฟท์แวร์โลกรายนี้ กำลังเดินตามรอยแอ๊ปเปิ้ล ที่ทำสองอย่างพร้อมกัน นั่นคือผลิตทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ อาทิ ไอทูนส์ และไอโฟน ซึ่งแอ๊ปเปิ้ลประสบความสำเร็จอย่างสวยหรู หรือแม้แต่กูเกิ้ล ผู้ให้กำเนิดเครื่องมือสืบค้นบนเว็บที่เชื่อมโยงระบบให้ทำงานร่วมกับเว็บไวต์คลังวิดีโอยูทูป และจีเมล์ เมื่อเดือนที่แล้ว บัลเมอร์ ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า จากนี้ไป ไมโครซอฟท์จะเป็นธุรกิจบริการ และผลิตอุปกรณ์ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ไม่น่าจะยากเย็นอะไร แต่ปัญหาอยู่ที่ จะจับทุกอย่างมารวมกันอย่างไรต่างหาก แต่เหมือนโชคช่วยที่ซินอฟสกี้ อำลาจากเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ การยกเครื่องไมโครซอฟท์ ให้เป็นปึกแผ่นสบช่องให้บัลเมอร์ มีโอกาสปรับองค์กรให้เป็นไปตามฝัน