นางสาวปัญจพร วิทยเลิศพันธุ์ ผู้จัดการอาวุโสกลุ่มผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงสภาพตลาดเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยว่าปีนี้จะมีอัตราเติบโตราว 10.3% จากข้อมูลของไอดีซี ที่ระบุว่ามีประมาณ 40,000 ตัวผ่านผู้ผลิตรายหลักอย่าง เอชพี เดลล์ เอเซอร์ โดยที่ไมโครซอฟท์มีส่วนแบ่งในตลาดเซิร์ฟเวอร์ประเทศไทยราว 85% แต่ในส่วนของเวอร์ชวลไลเซชันผ่านผลิตภัณฑ์ไฮเปอร์วี ที่ทำงานภายในเซิร์ฟเวอร์มีส่วนแบ่งอยู่ 23.5% และเชื่อว่าถ้าคลาวด์ได้รับความนิยมมากขึ้น ปริมาณผู้ใช้งานระบบเวอร์ชวลไลเซชันของไมโครซอฟท์ก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ล่าสุดได้เปิดตัวบริการ ไมโครซอฟท์ เซิร์ฟเวอร์ 2012 (Microsoft Server 2012) ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งจะมีลูกค้าราว 20% ของฐานลูกค้าไมโครซอฟท์ เซิร์ฟเวอร์เดิมที่จะได้รับการอัปเกรดไปใช้ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ขณะที่ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นองค์กรขนาดกลางและย่อยนั้นทางไมโครซอฟท์จะต้องเข้าไปให้ความรู้ถึงความแตกต่างเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ต่อไป “กระแสตอบรับบริการคลาวด์ในประเทศไทยเริ่มดีขึ้น จากเดิมที่เคยกังวลเรื่องการจัดเก็บข้อมูล ระบบรักษาความปลอดภัย แต่เพราะมีทางเลือกที่มากขึ้นทำให้สามารถแบ่งการจัดการข้อมูลที่สำคัญเก็บไว้ในบริษัทภายใต้ไพรเวทคลาวด์ และนำข้อมูลที่มีความสำคัญรองลงมาไปทดลองเก็บไว้ในคลาวด์ภายนอกมากขึ้น” นายคริส แวน วีเซป ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง สำหรับภายในองค์กร ให้ข้อมูลถึงแนวโน้มการใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งที่มีอัตราการเติบโตมากขึ้นทั่วโลก ดังนั้นในฐานะที่ไมโครซอฟท์ซึ่งมีส่วนแบ่งนะบบปฏิบัติการในตลาดเซิร์ฟเวอร์ราว 75% จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น “การคอนซูเมอร์ไลเซชันของอุปกรณ์พกพาที่มากขึ้น ส่งผลให้ฝ่ายไอทีในหลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับคลาวด์ ที่นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถปรับแต่งข้อมูลได้ง่าย” สำหรับผลิตภัณฑ์ไมโครซอฟท์ เซิร์ฟเวอร์ 2012 แบ่งออกเป็น 4 ระดับด้วยกันไล่ตั้งแต่ ระดับ DataCenter, ระดับ Standard, ระดับ Essentials และ ระดับ Foundation ซึ่งความสามารถของแต่ละระดับจะแตกต่างกันที่จำนวนเวอร์ชวลไลเซชันที่ทำงานภายในเป็นหลัก โดยรูปแบบการคิดค่าใช้จ่ายของเซิร์ฟเวอร์ 2012 จะคำนวนจากจำนวนของหน่วยประมวลผลโดยในระดับ DataCenter และ Standard ซึ่งเหมาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ จะคิดที่ 1 ลิขสิทธ์ต่อ 2 ซีพียู ขณะที่ Essentials และ Foundation สำหรับตลาดองค์กรขนาดกลางและย่อยจะคิดที่ 1 ลิขสิทธ์ต่อ 1 ซีพียู นางสาวปัญจพร กล่าวเสริมว่า ลูกค้าในไทยส่วนหนึ่งที่กังวลปัญหาเรื่องน้ำท่วม และต้องการระบบที่เข้ามาใช้งานในช่วงที่เกิดภัยพิบัติเริ่มให้ความสนใจบริการคลาวด์มากขึ้น และเชื่อว่าน่าจะเป็นแรงผลักดันให้หลายๆองค์กรหันมาลงทุนในด้านดังกล่าวด้วย