คออวกาศทุกคนมารวมกันทางนี้ เพราะครั้งนี้เรามีข่าวใหญ่จะแจ้งให้ทราบว่า ล่าสุด นาซา (NASA) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโทโฮคุ (Tohoku) ในญี่ปุ่น ทดสอบเฮลิคอปเตอร์ที่จะเข้าประจำการบนดาวอังคาร หรือที่รู้จักกันในชื่อ MSH (Mars Schience Helicopter) ที่สามารถขึ้นบินในชั้นบรรยากาศดาวอังคารได้ รายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- สำหรับบรรยากาศของดาวอังคาร มีความหนาแน่นน้อยกว่าโลก 100 เท่า และมีแรงดึงดูดเพียง 1 ใน 3 ของโลกเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าอากาศยานบนดาวอังคารต้องสร้างแรงยกเพื่อบินบนโลกให้ได้มากกว่าที่จะต้องใช้ในดาวอังคารราว 33 เท่า โดยจะมีการทดสอบใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ดาวอังคารนี้ในอุโมงค์ลมที่มหาวิทยาลัยโทโฮคุ ซึ่งอุโมงค์ลมแห่งนี้สามารถจำลองบรรยากาศบนโลกให้คล้ายกับดาวอังคารได้
- นาซากับ ม. โทโฮคุ บรรลุข้อตกลงร่วมกันเมื่อปีที่แล้ว และได้เริ่มการทดสอบใบพัดยาน MSH รวมถึงอุโมงค์ลมเป็นครั้งแรกในปีนี้ และทั้งสองฝ่ายยังร่วมออกแบบรูปทรงของชิ้นส่วนโรเตอร์ใบพัดร่วมกัน โดยจะมีการทดสอบอุปกรณ์ที่จะใช้บนดาวอังคารตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปีหน้า
- สำหรับยาน MSH คือรุ่นสืบทอดของยานอินเจนูอิตี (Ingenuity) ของนาซาที่ลงจอดบนดาวอังคารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 โดย อินเจนูอิตี เป็นอากาศยานลำแรกที่ขึ้นบินบนดาวเคราะห์ดวงอื่นได้ และหยุดทำงานไปแล้วในที่สุด ส่วนแผนก JPL (Jet Propulsion Lab) ของนาซา เป็นผู้สร้างยานอินเจนูอิตี เฮลิคอปเตอร์หุ่นยนต์ใบพัด 2 ชั้น ที่มีน้ำหนักราว 8 กิโลกรัม ติดตั้งด้วยใบพัดกว้าง 1.21 เมตร ทั้งใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ชาร์จเข้ากับแบตเตอรี่ มีความสามารถบินต่อเนื่องได้นาน 90 วินาที โดยยานอินเจนูอิตี เป็นระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ เนื่องจากข้อจำกัดด้านการส่งสัญญาณระหว่างโลกและดาวอังคารที่มีปัญหาดีเลย์ ขณะที่ผู้ควบคุมในแผนก JPL สามารถกำหนดเส้นทางไว้ และส่งชุดคำสั่งไปยังยาน Perseverance ยานสำรวจดาวอังคาร ซึ่งจะถ่ายทอดสัญญาณต่อไปยังยานอินเจนูอิตี
- ระหว่างการบิน เซนเซอร์ภายในเครื่องที่มีระบบกล้องนำทาง ระบบหน่วยวัดแรงเฉื่อย และเครื่องวัดระยะด้วยเลเซอร์ จะส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ไปยังหน่วยประมวลผลการนำทางของยานอินเจนูอิตี ซึ่งจะช่วยนำทางเฮลิคอปเตอร์ขณะบิน ช่วยให้ยานอินเจนูอิตี สามารถโลดแล่นไปบนภูมิประเทศขรุขระของดาวอังคารตามคำสั่งได้
- ภารกิจดั้งเดิมของอินเจนูอิตีนั้นคือการทดสอบว่า มนุษย์จะสามารถใช้เฮลิคอปเตอร์ในบรรยากาศเช่นดาวอังคารได้หรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่าการทดสอบบินสำเร็จทั้ง 3 ครั้ง จากนั้นนาซาจึงเริ่มมอบหมายภารกิจใหม่ให้อินเจนูอิตี โดยเปลี่ยนจากยานทดสอบให้เป็นยานสำรวจ และนำเอาข้อมูลการสำรวจและการทำงานอื่น ๆ ของเฮลิคอปเตอร์เหล่านี้มาประมวลผลว่า มันจะเป็นประโยชน์ต่อการสำรวจดาวอังคารและโลกอื่น ๆ ในอนาคตได้อย่างไรบ้าง ขณะที่ยานเหล่านี้ถูกพัฒนาให้สามารถควบคุมได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
- ที่ผ่านมา ยานอินเจนูอิตีได้ผ่านการทดสอบบินมาแล้ว 29 เที่ยว โดยเที่ยวบินสุดท้ายในวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมาอินเจนูอิตี สามารถลอยตัวอยู่ในอากาศเป็นเวลา 6 วินาที และเดินทางด้วยความเร็ว 5.5 เมตร/วินาที เป็นระยะทางราว 179 เมตร อย่างไรก็ตาม สภาวะอุณหภูมิสุดขั้วบนดาวอังคารก็ทำให้การเดินทางของยานอินเจนูอิตีต้องจบลง ตามรายงานของผู้ควบคุมจาก JPL ที่บอกว่า ยานลำดังกล่าว ขึ้นบินตามปกติ จนกระทั่งเซ็นเซอร์นำทางไม่ทำงานในเที่ยวบินสุดท้าย
- MSH จะเป็นยานที่ทำหน้าที่ต่อจากอินเจนูอิตี จะเป็นยานลักษณะคล้ายเฮลิคอปเตอร์ที่มีความสามารถเหนือกว่า สามารถบรรทุกเสบียงสัมภาระได้ยาวนาน และมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะสามารถบินได้ในทุกพื้นที่ ไม่เหมือนกับกรณีของอินเจนูอิตี ที่สามารถบินได้บนภูมิประเทศที่ราบเรียบ และไม่มีหินเท่านั้น
- พิมพ์เขียวของ NASA ระบุไว้ว่า MSH เป็นเฮลิคอปเตอร์ 6 ใบพัดที่มีน้ำหนักราว 31 กิโลกรัม และมีน้ำหนักบรรทุก 2-5 กิโลกรัม และจะสามารถบรรทุกเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อทำแผนที่, รีโมตเซนซิง, การประมวลข้อมูลพื้นผิว 3 มิติ และการสำรวจระยะไกล เป็นต้น
นับเป็นยุคใหม่ของการสำรวจที่มนุษย์สามารถสร้างอากาศยานที่บินได้บนดาวเคราะห์อื่นๆ นอกเหนือจากการสำรวจตามปกติ ที่จะใช้การลงจอดยาน รวมถึงการสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ และการใช้ดาวเทียมทั้งนี้อากาศยานยุคใหม่ ครอบคลุมพื้นที่การสำรวจหลากหลายมากขึ้น ขณะที่ใช้เวลาสำรวจน้อยลง