สวัสดีเพื่อนๆ ชาว ไอทีเมามันส์ ทุกคน พบกันเป็นประจำเช่นเคยกับการอัพเดทข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงเทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ สำหรับครั้งนี้เราก็มีข่าวที่น่าตื่นเต้นจะมาแจ้งให้คอไซไฟทุกคนได้ทราบว่า ตอนนี้ บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศในรัฐแอละแบมา ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดตัวโดรน ravn X โดรนบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อให้บริการในภารกิจขนส่งดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นสู่อวกาศแล้ว ซึ่งมันจ๊าบมากๆ เลย ใครสนใจก็ตามมาดูรายละเอียดกันเล้ยย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับโดรน ravn X ได้ดังนี้
- โดรนลำนี้จะมีบินขึ้นในลักษณะเหมือนกับเครื่องบิน จากนั้นจะไต่ระดับทะยานสู่อวกาศ
- โดยหลังจากทำภารกิจเสร็จสิ้นโดรน ravn X สามารถเดินทางกลับโลกและเตรียมพร้อมทำภารกิจครั้งต่อไปภายในเวลา 3 ชั่วโมง
- นี่จึงนับเป็นวิธีการใหม่ในการส่งดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นสู่อวกาศจากวิธีการเดิมที่ใช้จรวดขนส่งราคาแพงและมีเพียงจรวดไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่สามารถเดินทางกลับโลกเพื่อใช้งานซ้ำได้
- โดรน ravn X ถูกออกแบบให้มีขนาดความยาว 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 2.5 ตัน มีขีดความสามารถในการขนส่งดาวเทียมขนาดเล็กน้ำหนักไม่เกิน 500 กิโลกรัม ขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit) หรือระดับความสูงจากพื้นโลกไม่เกิน 2,000 กิโลเมตร
- ระบบการควบคุมโดรนเป็นแบบอัตโนมัติไร้นักบินที่เป็นมนุษย์
- โดรน ravn X บรรทุกจรวดขนส่งอวกาศไว้บริเวณด้านล่างของโดรน เมื่อโดรนบินขึ้นไปถึงระดับความสูงประมาณ 10-12 กิโลเมตร จรวดขนส่งอวกาศจะถูกปล่อยตัวออกจากโดรนบินเพื่อเดินทางขึ้นสู่อวกาศหรือระดับความสูงอย่างน้อย 100 กิโลเมตร ส่วนโดรน ravn X เดินทางกลับโลกจะใช้รูปแบบการลงจอดลักษณะเดียวกับเครื่องบินลงจอดบนสนามบิน เพื่อเติมเชื้อเพลิงและรอทำภารกิจถัดไป
ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับบริษัท ravn X
- บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2559 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนาโดรน ravn X รุ่น Block 1 การทดสอบครั้งแรกจะมีขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2564
- ก่อนหน้านี้บริษัทได้เซ็นสัญญาปล่อยดาวเทียมขนาดเล็ก Agile Small Launch (ASLON-45) กับกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกามูลค่ากว่า 150 ล้านบาท รวมไปถึงบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อ
- หากแผนการพัฒนาและทดสอบเป็นไปตามเป้าหมาย คาดว่าเที่ยวบินขนส่งอวกาศแรกของโดรน ravn X จะมีขึ้นในระหว่างปลายปี พ.ศ. 2564 ถึงต้นปี พ.ศ. 2565
- ทิศทางของธุรกิจขนส่งอวกาศในอนาคต จะมีบริษัทเอกชนหลายแห่ง เข้าร่วมแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีขนส่งอวกาศ สำหรับรูปแบบที่ได้รับความนิยม คือ จรวดขนส่งอวกาศ หรือเครื่องบินปล่อยจรวดขนส่งอวกาศที่สามารถเดินทางกลับโลกเพื่อใช้งานซ้ำ เนื่องจากมีต้นทุนในการขนส่งอวกาศราคาถูก เปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่น เช่น มหาวิทยาลัยหรือบริษัทเอกชนสามารถส่งดาวเทียมของตัวเองขึ้นสู่อวกาศเพื่อศึกษาวิจัย หรือประโยชน์ในด้านธุรกิจเชิงพาณิชย์ได้
และนี่ก็คือข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงเทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ ที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าข่าวการมาของโดรน ravn X นี้จะสร้างความตื่นเต้นให้กับคอไซไฟกันทุกคน เพราะหากมันทำได้สำเร็จขึ้นมาจริงๆ จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางการขนส่งอวกาศที่ง่าย สะดวก และประหยัดมากๆ