นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติหรือซิป้า กล่าวว่า ในปีนี้ซิป้าตั้งเป้าจะผลักดันซอฟต์แวร์ไทยออกสู่เวทีโลก โดยการสนับสนุนให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยกับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ต่างประเทศ โดยคาดว่าภายในปี 56 จะสามารถสร้างรายได้ 300 ล้านบาท “รายได้ทั้งหมดจะมาจากการหาพาร์ตเนอร์ให้ได้ 10 ราย รายละ 30 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นไปในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน อเมริกา และออสเตรเลีย โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ในกลุ่มดิจิตอลคอนเทนต์แอปพลิเคชัน 50% เอนเตอร์ไพรส์ซอฟต์แวร์ 30% และโมบายล์ 20%” ส่วนการส่งเสริมผู้ประกอบซอฟต์แวร์ไทย ซิป้าจะเน้นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยหันมาใช้ซอฟต์แวร์ไทยให้มากขึ้น โดยจะร่วมมือกับธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือ (เอสเอ็มอีแบงก์), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ฯลฯ ในการออกเงินกู้ให้ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ซอฟต์แวร์ไทยรายละ 3 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวซิป้าได้ขอวงเงินจากทางเอสเอ็มอีแบงก์ไว้ที่ 600 ล้านบาท “เบื้องต้น ในการหารือกับทางเอสเอ็มอีแบงก์ยังไม่ได้การตอบรับจากทางเอสเอ็มอีแบงก์แต่อย่างใดในการเสนอขอวงเงินดังกล่าว” นอกจากนี้ ภายในสิ้นเดือน พ.ย. 55 นี้ซิป้าเตรียมเซ็นสัญญาจัดทำโครงการกว่า 30% ของโครงการทั้งหมดในปี 56 จำนวน 30-40 โครงการภายใต้งบประมาณ 220 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดที่ซิป้าได้รับในปี 56 มูลค่า 305 ล้านบาท ซึ่งโครงการทั้งหมดเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ขณะเดียวกัน ซิป้าคาดการณ์ว่าตลาดรวมซอฟต์แวร์ไทยจะเติบโตราว 12% ในปี 56 ส่วนในปี 55 คาดว่าจะโต 8-12% จากเดิมที่ในปี 54 มีมูลค่ารวม 6 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะตลาดโมบายล์ซอฟต์แวร์ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 30-40% พร้อมทั้งยังคาดการณ์สัดส่วนการใช้ซอฟต์แวร์ไทยในปี 56 ว่าจะต้องเพิ่มขึ้น 20% จากเดิม 15% ในตลาดซอฟต์แวร์เอนเตอร์ไพรส์ สำหรับผลงานภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งครบ 3 เดือนของนายไตรรัตน์ พบว่ามีผลงานที่โดดเด่นจากการประเมินการปฏิบัติงาน (เคพีไอ) ในปี 2555 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งได้คะแนน 4.34 ถือว่าเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในตอนแรก และกำลังเร่งผลักดันกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในปี 56 ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ส่วนภายในองค์กรได้มีการปรับให้พนักงานทุกคนได้เซ็นสัญญาจ้างกับทางสำนักงานเนื่องจากเดิมทีไม่มีสัญญาจ้าง ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรมีความชัดเจนมากขึ้นกว่าในอดีต