ยุคทองของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นผ่านพ้นไปแล้ว ตอนนี้บริษัทแถวหน้าของแดนอาทิตย์อุทัยกำลังเผชิญกับช่วงอัสดง ไม่ว่าจะเป็น “โอลิมปัส” ที่สั่นสะเทือนจากคดีฉาว ขณะที่ “ชาร์ป” ยังต้องลุ้นว่าจะรอดพ้นความยากลำบากได้หรือไม่ นี่จุดคำถามตามมาว่า ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตอย่าง “โซนี่” จะเดินลงเหวตามรอย “เจแปน อิงค์” รายอื่นๆ หรือสามารถพลิกฟื้นธุรกิจจากสารพัดความท้าทายได้สำเร็จ เพราะโจทย์ของโซนี่ในวันนี้ยากกว่าในอดีตมากนัก ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ไม่เอื้อให้ภาคธุรกิจทำอะไรได้สะดวกมือ ยิ่งแนวทางของซีอีโอโซนี่คนปัจจุบัน “คาซูโอะ ฮิราอิ” ที่ควักเงิน 1.8 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ช็อปปิ้งธุรกิจที่อยู่ในความสนใจ ทั้งอุปกรณ์การแพทย์ และเกมบนระบบคลาวด์ กำลังทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะส่งผลให้สถานะการเงินของบริษัทเสื่อมถอยลง และกระทบถึงแผนฟื้นธุรกิจของโซนี่ ฮิราอิ เป็นลูกหม้อของโซนี่มาตลอดเกือบ 3 ทศวรรษ จนขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในเดือนเมษายน เขามีภารกิจทำให้แบรนด์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดาวเด่นกลับมาเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกม ภาพดิจิทัล และอุปกรณ์พกพา แต่นับจากเขารับตำแหน่ง มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดของโซนี่กลับดิ่งลง 8 พันล้านดอลลาร์ หลังสูญเสียเงินไปกับธุรกิจทีวีนานนับทศวรรษ และขาดทุนต่อเนื่องกัน 4 ปี สถานการณ์บีบให้โซนี่มีขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นรอง “แอ๊ปเปิ้ล อิงค์” จากสหรัฐ และ “ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์” จากเกาหลีใต้ เวลาของโซนี่กำลังจะหมด ขณะที่เงินในหีบสมบัติก็ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ซีอีโอของคอมมอนส์ แอสเส็ต แมเนจเมนต์ มองว่า โซนี่มีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง แต่ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น กลยุทธ์ของฮิราอิกำลังปริร้าว การลงทุนของโซนี่ไม่ได้ผลักดันให้เกิดกำไร แม้ว่าเขาจะอธิบายถึงความเป็นโซนี่ใหม่ แต่วิธีเดียวที่จะทำให้สถานะการเงินของโซนี่ดีขึ้น คือ ต้องทำรายได้ น่าสนใจว่า โซนี่กำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่เห็นยักษ์อิเล็กทรอนิกส์ร่วมชาติทยอยล้มหายตายจาก อย่างในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา “ชาร์ป” ก็ต้องขอรับเงินกู้จากแบงก์ 4.6 พันล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงธุรกิจจากภาวะสภาพคล่องตึงตัว ถึงแม้หนทางจะยังห่างไกลที่โซนี่จะเดินมาถึงจุดเดียวกับชาร์ป แต่ก็ใช่จะไม่มีความเสี่ยง เพราะสัญญาสวอปการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นต้นทุนประกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของโซนี่ เพิ่มขึ้น 2 เท่า อยู่ที่กว่า 400 basis points (bps) หรือ 4% นับจากฮิราอิกุมบังเหียน ขณะที่นักวิเคราะห์ต่างมองว่า ภาพรวมกำไรของโซนี่ค่อนข้างมองในแง่บวกเกินไป อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ โซนี่เพิ่งตกลงจ่ายเงิน 643 ล้านดอลลาร์ ซื้อหุ้น 10% ในโอลิมปัส บริษัทกล้องชื่อดังที่มีปัญหาอื้อฉาวจากการตบแต่งบัญชี ทำให้โซนี่กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโอลิมปัส และมีแผนจะร่วมกันก่อตั้งบริษัทเพื่อพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ ทดแทนธุรกิจทีวีที่ขาดทุน แต่การนำเงินไปลงทุนตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา กลับช่วยเพิ่มยอดขายให้บริษัทได้เพียง 1 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น ฮิราอิชี้แจงว่า ข้อตกลงครอบครองกิจการล้วนทำอย่างระมัดระวังไม่ให้กระทบกับสถานะเงินสดของบริษัท และเราพยายามปรับพอร์ตธุรกิจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเดือนที่แล้ว โซนี่ตกลงจ่าย 771 ล้านดอลลาร์ ซื้อหุ้น 42% ในบริษัทผู้ให้บริการเว็บไซต์ข้อมูลทางการแพทย์ที่มีชื่อว่า โซ-เน็ต เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และก่อนหน้านั้น ฮิราอิบอกว่าอาจจะซื้อไกไค อิงค์ ผู้ให้บริการคลาวด์เกม เค้าลางของปัญหาเริ่มปรากฏในธุรกิจเกมของโซนี่ ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งที่สำคัญในแผนฟื้นธุรกิจของซีอีโอคนล่าสุด โดยเมื่อเดือนสิงหาคม โซนี่ปรับลดคาดการณ์ยอดขายในส่วนเพลย์สเตชั่นวิต้า และพีเอสพี เหลือ 12 ล้านเครื่อง จาก 16 ล้านเครื่อง ยิ่งกว่านั้น ผู้ก่อตั้งบริษัมเกมสังคมออนไลน์ “กรี อิงค์” นายโยชิคาสึ ทานากะ พยากรณ์ว่า ธุรกิจเครื่องเล่นเกมกำลังจะตาย เพราะเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการผนวกรวมระหว่างโทรศัพท์มือถือและเครื่องพีซี จนกลายเป็นแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ซึ่งล้วนแต่มีฟังก์ชั่นเกมที่สามารถทดแทนเครื่องเล่นเกมแบบเก่าได้ นอกจากนี้ โซนี่ ยังปรับลดคาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานเหลือ 1.30 แสนล้านเยน (1.7 พันล้านดอลลาร์) จาก 1.80 แสนล้านเยน แต่นักวิเคราะห์ 14 รายประเมินตัวเลขเฉลี่ยที่ 1.10 แสนล้านเยน ดูเหมือนโซนี่ จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของ 2 สิ่ง เพราะโซนี่เป็นทั้งบริษัทที่เกิดใหม่หลังภาวะสงคราม และกำลังหายใจรวยรินหลังภาวะฟองสบู่ ซีอีโอของบริษัทวิจัยด้านบริหารความเสี่ยง คามาคุระ คอร์ปอเรชั่น “โดนัลด์ ฟาน เดเวนเตอร์” มองว่า โซนี่เผชิญปัญหาเดียวกับที่ชาร์ปพบเจอ นั่นคือ สูญเสียอำนาจในการคิดค้นนวัตกรรมให้แก่คู่แข่งอย่างแอ๊ปเปิ้ลและแบรนด์เกาหลี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจที่สูง และไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ คามาคุระ ประเมินว่า ความเป็นไปได้ในการผิดนัดชำระหนี้ใน 1 ปีของโซนี่อยู่ที่ 1.53% ซึ่งตัวเลขที่เกินกว่า 1% ถือว่ามีความเสี่ยง ขณะที่เมื่อนับถึงสิ้นเดือนมิถุนายน อัตราส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นดัชนีวัดสถานะการเงินของบริษัท ก็ลดลงต่ำกว่า 15% ทั้งที่ระดับ 20% เป็นตัวเลขขั้นต่ำที่สะท้อนความแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับ “พานาโซนิค” มีอัตราส่วนผู้ถือหุ้นที่ 29% งานของซีอีโอคนล่าสุด ยิ่งยากขึ้นไปอีก หลังจากต้นทุนการกู้ยืมแพงขึ้น เนื่องจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) หั่นอันดับเครดิตระยะยาวของโซนี่ อยู่เหนือระดับขยะเพียง 2 ขั้นเท่านั้น ในขณะที่โซนี่ยังหว่านเงินเพื่อครอบครองกิจการอื่นๆ ส่วนมูดี้ส์จะประกาศอันดับความน่าเชื่อถือของโซนี่ในเดือนพฤศจิกายน ในเวลานี้ สิ่งที่ทำได้ คือ การขายสินทรัพย์ เพื่อตุนเงินสดไว้ใช้ บริษัทเพิ่งขายธุรกิจเคมีคัลแล้วเสร็จ โดยขายให้แบงก์ของรัฐในราคา 5.7 หมื่นล้านเยน (ราว 730 ล้านดอลลาร์) รวมถึงมีแผนจะขายสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก “โซนี่ ทาวเวอร์” ที่สูง 37 ชั้น ต้องพิสูจน์ว่า ฮิราอิจะพลิกฟื้นโซนี่จากภาวะยากลำบากได้สำเร็จหรือไม่ ผลงานจะเป็นตัวตัดสินสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่คำพูด