คาซุโอะ ฮิราอิ (Kazuo Hirai) หัวเรือใหญ่โซนี่ให้สัมภาษณ์ว่ายังไม่มีความแน่ชัดว่าผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโซนี่และโอลิมปัสจะสามารถวางสู่ตลาดเมื่อไร เนื่องจากการพัฒนาอุปกรณ์ด้านการแพทย์นั้นจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบมาตรฐานเฉพาะทางตามกฏหมายหลายขั้นตอน ทำให้กินช่วงเวลานานกว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั่วไป ซึ่งโซนี่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตอุปกรณ์ด้านความบันเทิงต้องเรียนรู้ ฮิราอิระบุว่านี่ถือเป็นโอกาสในตลาดใหม่ของโซนี่ ซึ่งแตกแขนงออกจากธุรกิจที่โซนี่วางรากฐานไว้อย่างอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภคทั่วไป (consumer electronic), ธุรกิจภาพยนตร์, เพลง, เกม และการธนาคาร โดยยอมรับว่าการร่วมมือกับโอลิมปัสนั้นเกิดขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ไม่เพียงภาพ 3 มิติ แต่ยังมีเทคโนโลยีที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการผ่าตัดของแพทย์ได้ นั่นคือเทคโนโลยีหน้าจอพันธุ์ใหม่ความละเอียดสูงพิเศษอย่าง 4K ซึ่งโซนี่นำไปใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทีวีเท่านั้นในขณะนี้ ทั้งหมดนี้ โซนี่จะลงทุน 5 หมื่นล้านเยน (ราว 2 หมื่นล้านบาท) เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโอลิมปัส (คิดเป็นหุ้นสัดส่วน 11%) โดยที่ผ่านมา โอลิมปัสนั้นเป็นหนึ่งในผู้ผลิตกล้องเอ็นโดสโคปรายใหญ่ของโลก แต่ภาวะขาดทุนซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 90 ทำให้โอลิมปัสขาดสภาพคล่อง จุดนี้เองที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างโซนี่และโอลิมปัสเกิดขึ้นอย่างลงตัว โดยเงินราว 2.5 หมื่นล้านเยน (ครึ่งหนึ่งของ 5 หมื่นล้านเยน) จะถูกนำไปพัฒนากล้องเอ็นโดสโคปซึ่งมีเทคโนโลยีภาพ 3 มิติและหน้าจอ 4K ของโซนี่ ขณะที่โซนี่และโอลิมปัสก็ยังเป็นคู่แข่งในวงการกล้องดิจิตอลต่อไป ผู้บริหารโซนี่ยังระบุว่า โซนี่ตั้งเป้าครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องมือผ่าตัดให้ได้ 20% ของตลาดโลกภายในปี 2020 โดยตลาดดังกล่าวคาดว่าจะเติบโตทะลุ 3.3 แสนล้านเยน (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นการดิ้นรนของโซนี่ที่กำลังพบกับภาวะยากลำบากในตลาดเครื่องเล่นเพลงพกพา ทีวีจอแบน และสมาร์ทโฟน โดยผลประกอบการของโซนี่ช่วงปีการเงินล่าสุด (สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2555) นั้นถูกขนานนามว่าเป็นผลประกอบการที่ตกต่ำที่สุดในรอบประวัติศาสตร์ 66 ปีของบริษัท [code] http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9550000120458 [/code]