จอห์น คัลเวอร์ ประธานดูแลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและจีนของสตาร์บัคส์ กล่าวว่า “เราดำเนินธุรกิจในภูมิภาคนี้มา 16 ปีแล้ว โดยประสบความสำเร็จอย่างมากในไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เรามองว่าเวียดนามเป็นจุดต่อไปที่เราจะต้องเข้าไปให้ถึง” สตาร์บัคส์ได้ชะลอการเข้าสู่เวียดนามเมื่อประมาณสองเดือนที่แล้ว เนื่องจากรอให้ผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาว และการเริ่มปีใหม่ “มันดูเป็นช่วงเวลาที่มีความเหมาะสมมากกว่า” นายคัลเวอร์ บอก เวียดนามในมุมมองของสตาร์บัคส์ เป็นประเทศซึ่งมีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่โดดเด่น ต่างจากอินเดียหรือจีนที่คุ้นเคยกับการดื่มชามากกว่า โดยเวียดนามจะสามารถสร้างมูลค่าตลาดให้สูงถึงสามพันล้านเหรียญดอลลาร์ และมีอัตราการบริโภคกาแฟที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย “เวียดนามคือประเทศที่ผลิตกาแฟใหญ่เป็นอันดับสองในโลก ตามหลังแค่บราซิลเท่านั้น” นายคัลเวอร์บอก “และเป็นแหล่งรวมวัถตุดิบกาแฟให้กับมาหลายปีแล้ว” อย่างไรก็ตาม เนื่้องจากอัตราการแข่งขันระหว่างร้านกาแฟในเวียดนามนั้นมีสูง ดังนั้น การบุกตลาดเวียดนามของสตาร์บัคส์ จึงอาจจะเจออุปสรรคมากกว่าการเข้าไปทำตลาดในอินเดียและจีนที่มีประชากรมากกว่า แต่ในระยะยาว นายคัลเวอร์ บอกว่า มีโอกาสที่จะเปิดสาขาได้เป็นร้อยๆ ในเวียดนาม สตาร์บัคส์สาขาแรกในเวียดนามจะตั้งอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ ใกล้กับสี่แยกใหญ่ โดยฮ่องกง แม็กซิม กรุ๊ป จะดำเนินงานภายใต้สัญญาข้อตกลงระหว่างบริษัทลูกอย่างบริษัทคอฟฟี คอนเซปต์ (เวียดนาม) และสตาร์บัคส์ โดยข้อตกลงดังกล่าวจะอนุญาตให้คอฟฟี คอนเซปต์ (เวียดนาม) จัดตั้งธุรกิจในตลาดเวียดนามได้ และยังขยายความสัมพันธ์ของสตาร์บัคส์และฮ่องกง แม็กซิม กรุ๊ป นอกฮ่องกงกับมาเก๊า เมื่อปีที่แล้ว เพื่อเป็นการย้ำให้เห็นถึงความสนใจที่มีต่อตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สตาร์บัคสได้ประกาศแผนงานที่จะเปิดสาขาในจีนให้ครบ 1,500 สาขาภายในปีพ.ศ. 2558 และได้เปิดสาขาแรกในอินเดียเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยร่วมมือกับธุรกิจในเครือทาทา กรุ๊ป การเปิดสาขาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทำให้ยอดจำหน่ายของสตาร์บัคส์ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนคงอยู่ที่ตัวเลขสองหลัก แม้จะมีการเตือนจากบริษัทอเมริกันอย่างแมคโดนัลด์ และยัม แบรนด์ส ว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในจีนทำให้ธุรกิจตนได้รับผลกระทบ “เราไม่ได้แค่มองมันในระยะสั้น” นายคัลเวอร์กล่าว หลังจากถูกถามถึงแนวโน้มการจำหน่ายว่าจะยังคงดีกว่าคู่แข่ง และสามารถช่วยเร่งเครื่องการสร้างตัวในภูมิภาคได้หรือไม่ ทั้งนี้ บางครั้งกฎหมายท้องถิ่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้การขยายตัวในเอเชียต้องเจอกับปัญหา ตัวอย่างเช่น การบังคับห้ามการลงทุนทางตรงของต่างชาติในอินเดีย ซึ่งทำให้สตาร์บัคส์ต้องใช้เวลาถึงห้าปีก่อนที่จะสามารถเปิดสาขาแรกในประเทศได้ นายคัลเวอร์ กล่าวว่า สตาร์บัคส์เคยจะเปิดสาขาอีกประมาณ 50 สาขาในอินเดียภายในปีพ.ศ. 2555 แต่แผนการดำเนินงานดังกล่าวไม่สามารถจะระบุจำนวนที่แน่ชัดได้ โดยในปัจจุบัน อินเดียมีสตาร์บัคส์ทั้งหมดสามสาขา และอยู่ในขั้นตอนการขยายธุรกิจต่อไป