ทีโอทีฟันธง”ส.ค.” คนไทยได้ใช้3จี กสท เล็งเคลียร์ กสทช.สัปดาห์หน้า หวังปลดล็อคนำเข้าอุปกรณ์3จี ด้านดีแทคจี้ถามความคืบหน้า 3จีเอชเอสพีเอ ทีโอทีเซ็นแบงก์กรุงศรี-ยูโอบี กู้เงินทำ3จี 14,707 ล้านบาท คาดจากนี้อีก 45 วัน ภายในส.ค.ได้ใช้ 3จี ดีเดย์ กทม.ปริมณฑล 13 จังหวัดเศรษฐกิจ ตั้งเป้า 6 เดือนจากนี้ติดตั้งโครงข่ายได้อีก 3,000 สถานี เล็งใช้โครงข่ายร่วมกสท-เอไอเอส หวังใช้เป็นแหล่งรายได้ใหม่หล่อเลี้ยงองค์กรในอนาคต ด้าน กสท เล็งเคลียร์ กสทช.สัปดาห์หน้า หวังปลดล็อคนำเข้าอุปกรณ์3จี ขณะที่ ซีอีโอดีแทค ดอดพบถามความคืบหน้า 3จีเอชเอสพีเอ ได้รับคำตอบ ยังรอหนังสือตอบกลับจากอัยการสูงสุดว่าดีแทคจะเปิดให้บริการได้เลยหรือไม่ รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวานนี้ (24 พ.ค.) เวลา 8.09 น. นายอานนท์ ทับเที่ยง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที นายมาร์ค อาร์โนลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และนายคิม ชุง หว่อง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในสัญญาสินเชื่อโครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 มูลค่า 14,707 ล้านบาท ครอบคลุมทั่วประเทศไทย แบ่งเป็นกู้เงินจากธนาคารกรุงศรี 9,900 ล้านบาท และธนาคาร ยูโอบี 5,000 ล้านบาท สินเชื่อมีระยะเวลา 10 ปี ระยะเวลาปลอดเงินต้น 2 ปีแรก และระยะเวลาผ่อนชำระคืนหนี้ 8 ปี ซึ่งต้องชำระคืนเงินต้นทุก 6 เดือน รวมทั้งหมด 16 งวด นายกำธร ไวทยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทีโอที กล่าวว่า ตามแผนงานทีโอทีจะใช้เวลา 45 วันนับจากนี้นำเข้าอุปกรณ์สำหรับติดตั้งโครงข่าย 3จีทีโอทีทั่วประเทศ จากนั้นจะเริ่มติดตั้งโครงข่าย คาดอีก 3 เดือนข้างหน้าราว ส.ค.นี้ คนไทยจะได้ใช้ 3จีทีโอทีทั่วประเทศ พร้อมแพคเกจ 3จีทีโอทีในเขตกทม.ปริมณฑล และ13จังหวัดเศรษฐกิจ เบื้องต้นงบประมาณรวมของโครงการสร้างโครงข่าย 3จีหลังได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่ที่ 19,980 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนการประมูลงานสร้างโครงข่าย 3จี ที่ตั้งราคากลางไว้ที่ 17,440 ล้านบาท และมีสัดส่วนเงินกู้อยู่ที่ 15,850 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลัง ทีโอที เปิดประมูลด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออคชั่น) ได้ราคาต่ำสุดที่ 16,290 ล้านบาท ทำให้วงเงินเซ็นสัญญาจากการประมูลที่มีค่าลดลงจากราคากลางหลังต่อรองราคาเหลือ 15,999.50 บาท ส่งผลให้วงเงินลงทุนรวมทั้งหมดมีมูลค่าลดลงเหลือ 18,539.50 ล้านบาท และมีสัดส่วนเงินกู้ที่ 14,707 ล้านบาท คาดปีแรกรายได้ 3จี 1.7 พันล้านบาท เขา กล่าวว่า กรอบเวลาการสร้างโครงข่าย 3จี จะทยอยติดตั้งให้ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 5,320 สถานีฐาน แบ่งเป็นกทม.2,230 สถานีฐาน รองรับลูกค้าได้กว่า 7 ล้านเลขหมาย ตั้งเป้า 6 เดือนจากนี้จะติดตั้งโครงข่ายได้ 3,000 สถานีรวมการใช้โครงข่ายร่วมสถานีฐาน (โค-ไซท์) กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เพื่อลดต้นทุนการติดตั้ง ซึ่งทีโอทีจะยังคงเดินหน้าใช้โครงข่ายร่วมเพื่อเพิ่มการรองรับการใช้งานของลูกค้า ทั้งนี้ ปัจจุบันทีโอทีมีรายได้จากบริการ 3จี ผ่านการทำตลาดของบริการขายต่อบนโครงข่ายเสมือน (เอ็มวีเอ็นโอ) มีลูกค้าใช้บริการประมาณ 200,000 เลขหมาย รายได้ปีที่ผ่านมา 200 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 54 จะมีลูกค้า ประมาณ 1.3 ล้านเลขหมาย และเพิ่มเป็น 7 ล้านเลขหมายในปี 58 มีส่วนแบ่งตลาดไม่น้อยกว่า 8%. “รายได้จาก 3จีภายใต้โครงการนี้ จะช่วยหล่อเลี้ยงบริษัทได้ในอนาคต ตั้งเป้าว่าในปีแรกที่เปิด 3จีเต็มสมบูรณ์จะมีรายได้ 1,700 ล้านบาท ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกที่ผ่านมาทีโอที มีรายได้ 4,000 ล้านบาท มีกระแสเงินสดหมุนเวียน 5,000 ล้านบาทต่อเดือน สำหรับรายได้รวมเฉพาะการดำเนินงานของทีโอทีเองปีที่ผ่านมามีรายได้ 27,000 ล้านบาท และมีรายจ่ายอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท” ด้านนายมาร์ค อาร์โนลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีฯ กล่าวว่า ธนาคารมีความยินดีที่เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแก่ทีโอทีในโครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม โดยมีความมั่นใจว่า ทีโอทีจะมีความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เบี้ยวอย่างแน่นอน ขณะที่ นายคิม ชุง หว่อง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ยูโอบี กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อให้กับ ทีโอที ครั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของธนาคาร ในการมีส่วนร่วม ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ซึ่งการผลักดันโครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี ก็จะเป็นประโยชน์กับคนไทย สำหรับการจัดหาแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการ 3จี นี้ ทีโอที ได้แต่งตั้ง บริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท นอร์ตันโรส (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และทางกฏหมาย ตามลำดับ โดยทีมที่ปรึกษาได้ร่วมกับคณะทำงานของ ทีโอที ในการคัดเลือกกลุ่ม สถาบันการเงินและเจรจาสัญญาเงินกู้ ซึ่งได้คัดเลือก ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารยูโอบี จากกลุ่มสถาบันการเงิน 4 กลุ่มหลัก ที่ประกอบไปด้วย สถาบันการเงินในประเทศจำนวน 8 แห่ง กสท เคลียร์ กสทช.ขอนำเข้าอุปกรณ์ 3จี นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคม กล่าววว่า สัปดาห์หน้าบอร์ดกสท และผู้บริหาร จะขอเข้าหารือกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในฐานะรักษาการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.). เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ให้บริการ 3จี บนคลื่นความถี่เดิม 850 เมกะเฮิรตซ์ หรือเอชเอสพีเอ ที่กสทได้ลงนามกับทรู เพื่อขอให้กสทช.อนุมัติให้ กสท นำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับบริการ 3จีทั้งหมด “บอร์ดกสท จะเข้าพบเพื่อชี้แจงให้รักษาการกสทช.เข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็นการเดินหน้าให้บริการ 3จี จะได้เข้าขั้นตอนการอนุมัติให้กสทนำเข้าอุปกรณ์ 3จี ได้ ซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังระหว่าง กสท กับ รักษาการกสทช.มานานกว่า 5 เดือนแล้ว จึงต้องเคลียร์ปัญหาให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพื่อกสทจะได้เดินหน้าการให้บริการ 3จี” เขา กล่าวว่า บริษัทได้ส่งแผนลงทุน 3จี ใช้งบฯ 12,000 ล้านบาท ระยะเวลาลงทุน 5 ปี ตลอดอายุสัญญา 14 ปี 6 เดือน การลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์แอ็คเซ็ส ระบบสื่อสัญญาณ (ทรานสมิทชั่น) และโครงข่ายหลัก เพื่อให้รองรับการใช้งานของลูกค้าได้ 30 ล้านเลขหมาย ให้กับสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว ทั้งนี้ จากแผนการลงทุน และแผนการตลาดที่ทำแบบขายต่อขาย-ส่งจากการให้บริการ 3จีเอชเอสพีเอ ภายในปี 2555 คาดว่าจะมีรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท ปี 2556 ประมาณ 8,000 ล้านบาท ปี 2557 หมื่นล้านบาท ส่วนกำไรก่อนหักค่าเสื่อม ดอกเบี้ย และภาษี ในปี 2555 คาดจะมีกำไรประมาณ 1,400 ล้านบาท ปี 2556 ประมาณ 4,200 ล้านบาท ปี 2557 ประมาณ 9,000 ล้านบาท รวม 3 ปีประมาณ 14,000 ล้านบาท “ประมาณปีที่ 5 อีบิทดาจะต้องถึง 2 หมื่นล้านบาท แผนล่าสุดที่เราเสนอสภาพัฒน์ฯ ถือว่าใกล้เคียงความจริงมาก เพราะเรามีการคำนวณและปรับตัวเลขที่ลงรายละเอียดมากขึ้น แต่ถ้ามีรีเซลเลอร์เพิ่มขึ้นก็น่าจะมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นด้วย” สำหรับการให้บริการ 3จีเอชเอสพีเอ กลุ่มทรูฯ จะเป็นผู้ขายต่อบริการรายใหญ่ และขณะนี้มีกลุ่มแอร์เอเชียที่ต้องการทำตลาด และได้เจรจากันไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มบมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น และบมจ.ล็อกซเล่ย์ที่เสนอตัวในการเป็นผู้ทำตลาดเพิ่ม ทั้งนี้ ยังเดินหน้าตามแผนการให้บริการมือถือแบบใหม่กับกลุ่มทรูฯ และยืนยันว่าจะให้บริการได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และ 10 จังหวัดสำคัญ เพราะบอร์ดได้เห็นชอบเกี่ยวกับแผนการลงทุน แผนการตลาดไปแล้ว คาดว่า จะให้บริการได้ทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ ซีอีโอดีแทคขอความคืบหน้า3จี รายงานข่าวแจ้งว่า วันเดียวกันเวลา 15.00 น. นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ได้เดินทางมาพบนายจิรายุทธ โดยใช้เวลาหารือกันเพียง 15 นาที ซึ่งนายจิรายุทธ ระบุว่า ผู้บริหารดีแทคได้มาถามความคืบหน้ากรณีการอนุญาตให้ดีแทค เปิดให้บริการ 3จีเอชเอสพีเอเชิงพาณิชย์ ว่าขั้นตอนไปถึงระดับใดแล้ว โดยเขาแจ้งกับนายอับดุลลาห์ว่า แม้คณะกรรมการมาตรา 22 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) จะอนุญาตให้ดีแทคทำเอชเอสพีเอได้ แต่หลังจากที่ดีแทคยื่นฟ้องกสทกรณีทำสัญญา 3จี เอชเอสพีเอกับกลุ่มทรูฯ ทำให้กสทต้องส่งหนังสือไปถามสำนักงานอัยการสูงสุดว่า ดีแทคสามารถเปิดบริการได้เลยหรือไม่ ซึ่งกสทได้ส่งหนังสือไปถามอัยการสูงสุดตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.แล้ว ขณะนี้ รอเพียงอัยการสูงสุดตอบกลับมาเท่านั้น ตั้ง”อำนวย”นั่งประธานบอร์ด นายจิรายุทธ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ได้มีมติแต่งตั้งกรรมการบอร์ดแทนกรรมการที่หมดวาระไป 4 คน ประกอบด้วย นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ และนายวีระชัย คล้ายทอง โดยแต่งตั้งกลับมา 2 คนคือ นายธานีรัตน์ และนายวีระชัย นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้มีการแต่งตั้งเพิ่มคือ นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และสุนทรสิงห์ วิทยปิยานนท์ พนักงานองค์การของรัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และที่ประชุมได้เสนอชื่อนายอำนวย ปรีมนวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธานแทนนายวิสุทธิ์ และมีมติเป็นเอกฉันท์