แม้ไมโครซอฟท์จะโชว์ยอดขายระบบปฏิบัติการใหม่ “วินโดว์ส 8” ว่าแรงขนาดแตะ 60 ล้านไลเซ่นได้ภายใน 10 สัปดาห์หลังเปิดตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ความจริงก็คือความจริงเมื่อเสียงสะท้อนจากอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศยังมองว่า “วินโดว์ส8” อาจยังต้องรออีกไกล หนึ่งในดัชนีที่วัดออกมาชัดเจนที่สุดคือ ยอดขายพีซีช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาทรุดตัวครั้งแรกรอบกว่า 5 ปี เพราะ “วินโดว์ส8” ยังเรียกความน่าสนใจจากตลาดไม่ได้ ทั้งยังมีสินค้าใหม่ทั้งแทบเล็ตและสมาร์ทโฟนเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ซื้อ บริษัทวิจัยไอดีซีระบุว่า ยอดขายพีซีที่ตกต่ำลงจนกลายเป็นปีที่ย่ำแย่สำหรับผู้ผลิตพีซี เช่น ฮิวเลตต์-แพคการ์ด, เลอโนโว และเดลล์ ซึ่งล้วนแต่เผชิญกับยอดขายพีซีที่ลดลงเป็นปีแรกในรอบหลายปีโดยยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นในเร็ววัน ทั้งยังต้องเน้นย้ำว่าการเปิดตัวซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นใหม่ที่ไมโครซอฟท์หวังจะใช้รับมือกับคู่แข่งใหม่ในตลาดพีซีก็ยังไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร ยอดขายพีซีรวมทั่วโลกไตรมาส 4 ที่ผ่านมาได้ 89.8 ล้านเครื่อง ลดลง 6.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์และยังเลวร้ายที่สุดในรอบมากกว่า 5 ปี ขณะที่ความหวังว่า “วินโดว์ส 8” จะเป็นฮีโร่ช่วยฟื้น “ตลาดไอทีไทย” ที่ซบเซาในปีที่ผ่านมา ถึงขั้นที่บริษัทเลือกให้ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศหลักที่ทำแคมเปญครั้งประวัติศาสตร์ที่ใช้งบสูงที่สุดเพื่อเปิดตัวระบบปฏิบัติการ “วินโดว์ส 8” ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยหวังว่า การปรับปรุงสถาปัตยกรรมใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ยูสเซอร์ อินเทอร์เฟซจะถูกใจคนไอทียุคใหม่มากขึ้น แต่ผลตอบรับที่ได้ยังอาจเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่ไมโครซอฟท์ต้องนำกลับไปทำการบ้านมาใหม่ รับยอดขายไม่พรวดพราด นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ระบบสารสนเทศและอุปกรณ์ไอที รายใหญ่ของไทย เผยว่า ยอดขายวินโดว์ส 8 ที่บันเดิลพร้อมกับเครื่องพบว่ายังไปได้เรื่อยๆ แต่ไม่หวือหวา ซึ่งคาดว่าผู้ซื้ออาจรอจนกว่าเทคโนโลยีจะอยู่ตัวมากกว่านี้ ประกอบกับกระแสสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตแรงกว่ามากทำให้ผู้ที่ไม่เน้นการใช้งานโปรแกรมออฟฟิศส่วนใหญ่ก็จะเลือกซื้อแทบเล็ตและสมาร์ทโฟนมากกว่า ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้มีแพลตฟอร์ม “ไอโอเอส” และ “แอนดรอยด์” โดดเด่นมากกว่า ขณะที่ตลาดไทยส่วนหนึ่งยังอาจเป็นเพราะตัวเครื่อง หรือโน้ตบุ๊คที่รองรับการใช้งานวินโดว์ส 8 แบบสมบูรณ์มีตัวเลือกไม่มากนักหรือสินค้ายังเข้ามาไม่เต็มที่ ประกอบกับประเด็นด้านราคา เพราะวินโดว์ส 8 ทำให้ตัวฮาร์ดแวร์ราคาสูงขึ้น เนื่องจากโปรแกรมจะทำงานได้ดีกับเครื่องที่ใช้จอทัชสกรีน “กระแสตอบรับก็ดี แต่ไม่แรงปรู๊ดปร๊าด เพราะโน้ตบุ๊ครุ่นใหม่ๆ ที่ใช้กับวินโดว์ส 8 มีฟังก์ชั่นเยอะกว่าเดิม ตัวเครื่องต้องเป็นจอทัชสกรีน ต้องมีคีย์บอร์ดดีไซน์เป็นฝาพับได้ ทำให้ต้นทุนฮาร์ดแวร์สูงขึ้น” นายสุพันธุ์กล่าว อย่างไรก็ตามผู้บริหารซินเน็คคาดว่า สถานการณ์ของวินโดว์ส 8 น่าจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป จากสินค้าที่รุ่นเข้ามาครบไลน์ แต่ก็ต้องดูสภาพเศรษฐกิจภายนอกประกอบด้วย เพราะแม้เทคโนโลยีจะดี แต่หากผู้บริโภคไม่มีเงินซื้อ หรือถูกเบี่ยงเบนความสนใจในการใช้จ่ายเงินก็อาจมีผลต่อตลาดไอทีเช่นกัน โดยซินเน็คยังคาดว่ายอดขายของบริษัทจะยังเติบโตได้เป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยอดขายจากสมาร์ทโฟนและแทบเล็ต ส่วนตลาดโน้ตบุ๊ครวมผู้บริหารซินเน็คคาดว่าจะเติบโตได้ราว 3-5% ในปีนี้ เจ.ไอ.บี.รับตัวเลขไม่ดี นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี.คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด เห็นเช่นเดียวกันว่า สินค้าในกลุ่มวินโดว์ส8 “ตัวเลขที่ออกมายังไม่ดีเท่าที่ควร” ทั้งโน้ตบุ๊คและแทบเล็ต โดยเฉพาะรายการหลังที่มีตัวเลือกไม่มากนักและยังราคาสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับแทบเล็ตที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ซึ่งกลายเป็นกลุ่มที่กำลังเติบโตได้มากในขณะนี้ “ยอดขายโน้ตบุ๊ควินโดว์ส 8 ก็พอๆ กับตอนที่เป็นวินโดว์ส 7 เจไอบีมีสัดส่วนการขายเครื่องที่บันเดิลไปพร้อมวินโดว์สราว 10% ส่วนที่เหลือเป็นการขายเครื่องเปล่า” นายสมยศกล่าว พร้อมกับประเมินว่า เหตุผลที่ทำให้วินโดว์ส 8 ยังไม่ได้รับการตอบรับจากตลาดเท่าที่ควรอาจเป็นเพราะ “ราคา” โดยรวมยังสูงเกินไปทำให้สินค้าไม่ติดตลาดกลุ่มแมส ส่วนแนวโน้มการขายซอฟต์แวร์กล่องอย่างเดียวก็พบว่ายังเป็นไปแบบ “เรื่อยๆ” ทั้งวินโดว์ส7 และวินโดว์ส8 ซึ่งส่วนใหญ่ตลาดยังถามหาวินโดว์ส 7 มากกว่า เพราะ “วินโดว์ส8” เป็นซอฟต์แวร์ที่เหมาะสำหรับการใช้กับจอทัชสกรีนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเจ.ไอ.บี. ยังมองว่า แนวโน้มตลาดไอทีปีนี้ยังคงซบเซา และอาจจะโตได้ไม่เกิน 10% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากโครงการรถคันแรกที่ทำให้ผู้บริโภคมีภาระต้องผ่อนต่อเนื่อง และสภาพเศรษฐกิจ ทำให้สินค้ากลุ่มโน้ตบุ๊คอาจไม่เติบโต หรือโตได้น้อย แต่ทั้งนี้กลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตสูงคือ แทบแล็ตแอนดรอยด์ราคาต่ำไม่กี่พันบาท ซึ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น และคาดว่าจะช่วยสร้างยอดขายหลักให้เจ.ไอ.บี.ปีนี้ให้เติบโตได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาหรือราว 15% ไอทีซิตี้เชื่อต้องใช้เวลา นายเอกชัย ศิริจิระพัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.ไอที ซิตี้ กล่าวว่า ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส 8 ในไอทีซิตี้ภาพรวมถือว่ายังมีความต้องการจากผู้ซื้ออย่างต่อเนื่อง แต่ยอดขายหรือส่วนแบ่งตลาดจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา โดยไอทีซิตี้ก็มีโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น ในไตรมาสแรกของปีมีงานไอทีเอ็กซ์ไซต์ ที่จะทำโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษกับทุกผลิตภัณฑ์ในไอทีซิตี้ทุกสาขา ขณะที่โน้ตบุ๊คและเดสก์ท้อปส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในไอทีซิตี้ก็จะบันเดิลกับระบบปฏิบัติการวินโดว์ส 8 แล้ว และคาดว่าจะยังเป็นกลุ่มสินค้าที่ทำเงินสูงสุดที่สร้างยอดขายให้บริษัท “เราเป็นผู้ค้าปลีกให้ผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์มาหลายปี และมียอดขายเติบโตเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งปีนี้เรามองว่าเงินจากโน้ตบุ๊ค เดสก์ท้อป จะยังเป็นอันดับหนึ่งในไอทีซิตี้ แม้การเติบโตของสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตจะสูงกว่าก็ตาม” นายเอกชัยกล่าว คอมเซเว่นชี้ดันยอด 2 เท่า นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีกบานาน่าไอที กล่าวว่า ภาพรวมการซื้อขายในบานาน่าไอทีพบว่า “วินโดว์ส 8” มีส่วนช่วยกระตุ้นการขายได้มากพอสมควร โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนยอดขายโน้ตบุ๊คที่บันเดิลมาพร้อมระบบปฏิบัติการวินโดว์ส 8 เพิ่ม 2 เท่าหรือราว 40% จากที่ผ่านมาโน้ตบุ๊คส่วนใหญ่ที่ขายจะบันเดิลโปรแกรมวินโดว์สไม่ถึง 20% ทั้งนี้แสดงถึงการตอบรับของตลาดในระดับหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นรุ่นระดับบนๆ หรือราคาสูงกว่า 2.5 หมื่นบาทขึ้นไป และเครื่องที่ใช้จอทัช สกรีนที่มีสินค้าไม่พอจำหน่าย “วินโดว์ส 8 ช่วยกระตุ้นตลาดไอทีได้แน่นอน แค่จะมากหรือน้อยเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นจุดขายของเราที่ใช้สร้างยอดขายในกลุ่มโน้ตบุ๊ค” นายสุระกล่าว นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าตลาดรวมโน้ตบุ๊คปีนี้จะยังเติบโตได้ หรือราว 15% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนยอดขายรวมของบริษัทก็คาดว่าจะยังเติบโตได้ 30% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา “เทรนด์ของตลาดโน้ตบุ๊ค หรือเครื่องดีไอวาย ก็ยังเติบโต แต่ก็เป็นไปได้ว่าจะไม่มีคนขายรายใหม่ๆ เข้ามา แต่เป็นช่วงที่รายเก่าๆ จะเริ่มหันมาแย่งส่วนแบ่งตลาดกันมากขึ้น” นายสุระกล่าว [code]ที่มา : bangkokbiznews http://bit.ly/13jnh32 [/code]