สวัสดีคอเทคโนโลยีทุกคน ครั้งนี้เรามีข่าวที่น่าตื่นเต้นจะมาแจ้งให้คุณได้ทราบว่า ล่าสุด Zap Energy เปิดแผนสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขับเคลื่อนด้วยพลาสมาขนาดเท่าโรงรถรายแรกของโลก ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- พลังงานนิวเคลียร์ในสหรัฐอเมริกากลับมาเป็นที่นิยมมากขึ้น ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ได้เปิดตัวมาร์เวล (MARVEL) เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกไปก่อนหน้านี้ ในขณะที่แซปเอเนอร์จี้ (Zap Energy) เลือกพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ด้วยพลาสมาขนาดเท่าโรงรถทั่วไปในสหรัฐฯ และพร้อมจะยกระดับจากการทดลองสู่ระบบขนาดจริงแล้ว โดยจะเริ่มทำการตลาดสำหรับองค์กรต่าง ๆ ภายในทศวรรษนี้
- เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion Reactor) โดยทั่วไปจะลอกเลียนปรากฏการณ์การสร้างพลังงานบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่สร้างพลังงานความร้อนและแสงสว่างเพียงจากพลาสมา แต่เป็นขนาดที่เล็กกว่าจำนวนมหาศาลสำหรับเตาปฏิกรณ์ อย่างไรก็ตาม หนึ่งในระบบสำคัญที่ทำให้สามารถนำพลังงานมาใช้งานได้คือ ระบบสนามแม่เหล็ก (Magnetic Field) กำลังสูงเพื่อกักเก็บและนำพลังงานเข้าสู่ระบบ ซึ่งต้องแลกมาด้วยพื้นที่ติดตั้งในระบบขนาดใหญ่และต้นทุนการผลิตที่สูง
- ข้อจำกัดที่กล่าวมาถูกทำลายลงเชิงทฤษฎีในปี 2019 ด้วยงานวิจัยที่นำเสนอเทคโนโลยีแซดพินช์ (Z-Pinch) โดยยูริ ชุมลักษณ์ (Uri Shumlak) และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ซึ่งใช้ระบบกักเก็บแบบเกลือจิ้มเกลือ ด้วยการสร้างพลาสมาภายในระบบอีกประเภทเพื่อสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Field) ทดแทน ซึ่งมีข้อดีตรงที่ต้นทุนถูกกว่ารวมถึงประหยัดพื้นที่ในการออกแบบระบบมากกว่า ชุมลักษณ์จึงได้ตัดสินใจสร้างบริษัทแซปเอเนอร์จี้ (Zap Energy) เพื่อต่อยอดงานวิจัยให้เป็นเรื่องจริง
- Zap Energy พัฒนาตัวต้นแบบมาแล้ว 3 รุ่นก่อนหน้านี้ และรุ่นล่าสุดที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริงมีชื่อรุ่นว่า FuZE-Q ซึ่งสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้สูงสุด 650 กิโลแอมแปร์ (Kiloampere: kA) ในระดับพลังงานพื้นฐานสำหรับการกระตุ้นปฏิกิริยานิวเคลียร์ ซึ่งยังต้องทำการพัฒนาต่อไปเพื่อให้ตัวระบบรองรับการกระตุ้นพลังงานเพื่อทำปฏิกิริยาฟิวชัน
- ชุมลักษณ์และบริษัทได้แสดงให้เห็นว่าแซดพินช์ (Z-Pinch) เป็นเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ ทำให้งานวิจัยไม่ขึ้นหิ้ง รวมถึงเป็นพลังงานทางเลือกที่ดีและเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ในหน้าเว็บไซต์ของบริษัทยังแสดงให้เห็นว่า FuZE-Q จะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในทุกอุตสาหกรรม โดยบริษัทจะนำเสนอระบบในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการภายในทศวรรษนี้ หรือไม่เกินปี 2030
และนี่ก็คือข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจล่าสุดในแวดวงพลังงานนิวเคลียร์ที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบถูกใจคอเทคโนโลยีทุกคน และหากมีข่าวความคืบหน้าประการใดเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้อีก เราจะรีบอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที