ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค. คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้พิจารณารายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ซึ่งหลังจากใช้เวลาประชุม 2 ชั่วโมงกว่า บอร์ด กทค. ทั้ง 5 คน นำทีมโดย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประธาน กทค. ได้เปิดแถลงข่าวว่า ที่ประชุมมีเห็นชอบรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูล 3 จี เป็นที่เรียบร้อยแล้วและจะประกาศให้แจ้งอย่างเป็นทางการต่อไป โดยผู้ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติได้พิจารณาแล้วว่า ผู้ผ่านการเข้าร่วมประมูลทั้ง 3 ราย ไม่มีความเกี่ยวโยงกับผู้ขอรับใบอนุญาตรายอื่น ไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไม่เป็นบริษัทย่อย ไม่เป็นบริษัทร่วม ไม่เป็นผู้มีอำนาจควบคุมหรือถูกควบคุม ไม่มีการถือหุ้นไขว้กับผู้ขอรับใบอนุญาตรายอื่น และคุณสมบัติของ 3 บริษัทเป็นไปตามประกาศของ กสทช. ทุกประการ สำหรับประเด็นความกังวลว่า เมื่อมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย จะเกิดการแข่งขันหรือไม่ และราคาเริ่มต้นการประมูล 4,500 ล้านบาท ถือเป็นราคาที่พอใจหรือไม่นั้น พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า กสทช.มั่นใจว่าวิธีการและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดไว้นั้น จะมีการแข่งขันอย่างแน่นอน แต่จะแข่งขันดุเดือดรุนแรงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตอบไม่ได้ เพราะต้องรอการวันประมูล 16 ต.ค.นี้ ส่วนราคาเริ่มต้นการประมูลนั้น ไม่ได้เป็นประเด็นที่ต้องกังวล เพราะเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว ส่วนจะมีการเคาะราคาแข่งขันกันหรือไม่ ก็ต้องรอลุ้นวันประมูลเช่นเดียวกัน ซึ่ง กทค.ก็ต้องดูพฤติกรรมการประมูล 3 จี ก่อน จากนั้นบอร์ด กทค.จะมีการประชุมพิจารณาพฤติกรรมการของผู้ประมูลอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีเหตุจำเป็นคณะกรรมการสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงเปลี่ยนรูปแบบ กระบวกการ วิธีการ และกฎการประมูล รวมทั้งหยุด พัก หรือยกเลิกการประมูล ที่ระบุไว้ในประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประมูล 3 จี ภาคผนวก ข กฎการประมูล ข้อ 5 นั้น จะส่งผลให้บอร์ กทค.ปรับเปลี่ยนวิธีการประมูลหรือไม่ เนื่องจากผู้เข้าร่วมประมูลมีเพียง 3 ราย รวมถึงกรณีที่ไม่มีการเคาะราคาประมูลหลังจากเสนอราคาเริ่มต้นประมูล 4,500 ล้านบาทแล้ว บอร์ด กทค.จะสั่งหยุดหรือพักการประมูลหรือไม่ พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ต้องรอดูพฤติกรรมการของการประมูลในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ก่อน ซึ่งหากมีปัญหาหรือมีประเด็น บอร์ด กทค.ก็เรียกประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ขณะที่นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. กล่าว คุณไม่ใช่นักกฎหมายที่จะชักบอร์ด กทค.ได้ ส่วนนายสุกิจ ขมะสุนทร กล่าวว่า เหตุจำเป็นคือเหตุสุดวิสัย น้ำท่วม ไฟไหม้ ซึ่งบอร์ด กทค. ต้องนำมาหารือกันว่าจะปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ได้หรือไม่ ขณะที่นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า หากการประมูล 3 จีเป็นไปตามขั้นตอนทุกประการ แต่ราคาเริ่มต้นการประมูลไม่มีการปรับขึ้นมากนัก ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม หากการประมูล 3 จี ครั้งนี้ไม่เกิดขึ้น จะทำให้ประเทศล้าหลัง เนื่องจากในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเปิดประชาคมอาเซียน (เออีซี) และจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศด้วย เพราะบริการ 3 จี ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ “บอร์ด กทค.ขอยืนยันว่าการเดินหน้าประมูล 3 จี ถือว่าทำอย่างรอบคอบและโปร่งใส แต่ถ้ามีปัญหาบอร์ด กทค.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน กรณีที่มีการฟ้องร้องระงับการประมูล 3 จี ก็เป็นสิทธิ์ที่กระทำ รวมถึงในอนาคตว่าจะฟ้องว่า กทค.กระทำผิดกฎหมายอาญา 157 และฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็จะต่อสู้ถึงที่สุดเช่นกัน แต่ถ้าพิสูจน์ว่าสิ่งที่ กทค. กระทำไม่ผิดกฎหมาย บอร์ด กทค.ก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องกลับเช่นกัน ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ของ กทค.ยอมมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คงไม่สามารถทำให้คน 65 ล้านคนเห็นด้วยกับ กทค.ได้ แต่เห็นด้วยกว่าครั้งก็พอใจแล้ว” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า หลังจากการประมูลในวันที่ 16 ต.ค.นี้เสร็จสิ้น ตามขั้นตอนในเดือน ธ.ค.2555 กสทช.ก็จะแจกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี เป็นครั้งแรกของประเทศ และภายในเดือนมี.ค.2556 คาดว่าจะผู้รับใบอนุญาตจะทยอยเปิดให้บริการ 3 จี อย่างเต็มรูปแบบได้ และในปี 2558 จะให้บริการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ.