คอหุ่นยนต์ทุกคนต้องมารวมกันทางนี้ เพราะครั้งนี้เรามีข่าวที่น่าตื่นเต้นจะแจ้งให้ทราบว่า ล่าสุดนักวิจัยได้ค้นพบวิธีปลูก “เส้นเอ็น” ด้วยหุ่นยนต์ เลียนแบบการเจริญเติบโตเหมือนร่างกายมนุษย์แล้ว ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- คงเป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์ถูกนำมาต่อยอดเพื่อประโยชน์ด้านการแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด, หุ่นยนต์ช่วยวินิจฉัยภาพเอกซเรย์ หรือหุ่นยนต์ช่วยทำความสะอาดห้องผ่าตัด เป็นต้น ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดได้นำหุ่นยนต์มาใช้ในการ “ปลูกเส้นเอ็น” เพื่อใช้รักษาในผู้ป่วยที่ได้ประสบอุบัติเหตุ
- เส้นเอ็นในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย เอ็นยึดข้อ (Ligament) ทำหน้าที่ยึดกระดูกเข้าด้วยกันบนข้อต่อ และเอ็นยึดกระดูก (Tendon) ทำหน้าที่ยึดกล้ามเนื้อให้ติดกับกระดูก ซึ่งเส้นเอ็นจัดเป็นหนึ่งในอวัยวะที่ประสบปัญหาในการสร้างอวัยวะเทียมอย่างมาก เนื่องจากเส้นเอ็นในร่างกายมนุษย์ต้องผ่านการออกแรงกระทำเรื่อยมาตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นผู้ใหญ่ ส่งผลให้เส้นเอ็นของจริงมีความยืดหยุ่นสูงนั่นเอง
- ในขณะที่เส้นเอ็นเทียม แม้จะถูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุที่มีความคล้ายคลึงกันกับเอ็นของจริงในมนุษย์ แต่กลับขาดความยืดหยุ่น ไม่สามารถบิดงอหรือเหยียดออกได้อย่างอิสระ ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจึงต้องเปลี่ยนวิธีการสร้างเส้นเอ็นขึ้นใหม่ นอกเหนือจากการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงเส้นเอ็นของมนุษย์แล้ว พวกมันยังต้องผ่านกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดพัฒนาการของความยืดหยุ่นด้วย
- เพราะฉะนั้น หุ่นยนต์จึงมีบทบาทต่อการสร้างเส้นเอ็นในครั้งนี้ เริ่มต้นจากการสร้างข้อต่อหัวไหลเทียมที่ยึดด้วยเนื้อเยื่อเส้นเอ็นบาง ๆ ขึ้นมา โดยข้อต่อนี้จะมีส่วนที่เป็นจุดกักเก็บสารอาหารหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อเส้นเอ็นอยู่บริเวณปลายทั้ง 2 ฝั่ง จากนั้นจึงนำข้อต่อไปติดตั้งให้กับหุ่นยนต์ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการสร้างเส้นเอ็นในลำดับถัดไป
- เมื่อนำข้อต่อดังกล่าวไปติดตั้งที่หุ่นยนต์แล้ว นักวิจัยจะสั่งให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวข้อต่อหัวไหล่วันละ 30 นาที ทั้งการยก, การหมุน, การบิด, และการเหยียด ซึ่งเป็นการแสดงท่าทางเลียนแบบท่าทางของหัวไหล่มนุษย์ ไม่นานเส้นเอ็นบาง ๆ ในตอนแรก เริ่มเจริญเติบโตกลายเป็นเส้นเอ็นที่มีความหนามากขึ้น แต่สามารถยืดหยุ่นและบิดงอได้มากกว่าเส้นเอ็นเทียมที่ไม่ผ่านการเคลื่อนไหวใด ๆ มาก่อน
นักวิจัยคาดว่ากระบวนการดังกล่าว จะสามารถนำมาประยุกต์ในการรักษาผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุจนเกิดเส้นเอ็นเสียหายรุนแรงได้ โดยยังคงประสิทธิภาพเทียบเคียงเส้นเอ็นเดิมได้เป็นอย่างดี และเป็นได้ว่าในอนาคตอาจมีการพัฒนาอวัยวะเทียมอื่นๆ โดยใช้หุ่นยนต์เป็นผู้อนุบาลอวัยวะเหล่านั้นจนกว่าจะพร้อมใช้งาน ซึ่งคงจะมีประโยชน์อย่างมากในวงการแพทย์