สวัสดีคอเทคโนโลยีทุกคน ครั้งนี้เรามีข่าวใหญ่ด้านวิศวกรรมพลังงานมาแจ้งให้ทราบว่า ล่าสุดออสเตรเลียวิจัยเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นพลังงานไฮโดรเจนแบบคุ้มทุนได้สำเร็จแล้ว ซึ่งต้องบอกเลยว่านี่มันจะเป็นเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อโลกของเราเป็นวงกว้างมากๆ ใครสนใจอยากทราบรายละเอียดก็ตามมาอ่านที่ด้านล่างนี้กันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
ท่ามกลางวิกฤติการณ์ด้านพลังงานที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ทำให้เกิดต้องการแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ซึ่งไฮโดรเจนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานที่มีความปลอดภัย และให้การเผาไหม้ที่สะอาด
แต่ข้อเสียหลักๆ ของไฮโดรเจนก็คือกรรมวิธีการผลิตที่แพงมาก แต่ปัญหานี้อาจกำลังหมดไปเพราะล่าสุดนักวิจัยจาก University of Adelaide ประเทศออสเตรเลียสามารถคิดค้นวิธีผลิตไฮโดรเจนในราคาถูกจากน้ำทะเลได้สำเร็จแล้ว
โดยที่งานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนากระบวนการแยกก๊าซออกจากน้ำด้วยไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการแยกองค์ประกอบสารทางเคมี แต่ในทางปฏิบัติก่อนหน้างานวิจัยนี้ ตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ที่เป็นสารประกอบกลุ่มโลหะมักมีปัญหาในด้านประสิทธิภาพจากการขึ้นสนิมในเวลาอันสั้น
พวกเขาจึงได้ปรับปรุงตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่ โดยใช้สารประกอบจากโคบอลต์ (Cobalt Oxide) ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในโลหะทนความร้อน แล้วเคลือบด้วยโครเมียม (Chromium Oxide) ซึ่งนิยมใช้ชุบกันสนิม มาทำการแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำทะเล
ด้วยเหตุนี้ การแยกก๊าซไฮโดรเจนด้วยน้ำทะเลผ่านตัวเร่งปฏิกิริยาแบบใหม่นี้สามารถทำได้จริง ซึ่งทั้งโคบอลต์ (Cobalt) และโครเมียม (Chromium) ต่างเป็นแร่ที่พบได้ทั่วไปในอุตสาหกรรมหนักและมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ
และนี่ก็คือข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงพลังงานทดแทนที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้อ่านที่สนใจเรื่องนี้กันทุกคน เพราะงานวิจัยชิ้นนี้จึงอาจเป็นใบเบิกทางสู่การสร้างโรงงานผลิตก๊าซไฮโดรเจนด้วยน้ำทะเลในอนาคตได้นั่นเองหากมันประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในระดับสากล