“เซ็นจูรี่โพลล์”เผยผลสำรวจคนกรุงเทพฯ โดนใจแคมเปญ “เฟอร์นิเจอร์ครบชุด” มากสุด บางกะปิติดทำเลมาแรง ความต้องการคอนโดพุ่ง 31% นายชนะ นันทจันทูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็นจูรี่ 21 เรียลตี้ แอฟฟิลิเอทส์ จำกัด กล่าวว่า หลังจาก “เซ็นจูรี่โพลล์” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัทและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้สำรวจความเห็นของประชาชนทุกเขตในกรุงเทพฯ หัวข้อ “ความต้องการที่อยู่อาศัยใน กทม.” โดยสำรวจเป็นระยะเวลา 15 วันตั้งแต่เมื่อปลายเดือน เม.ย.-ต้นเดือน พ.ค. จากประชากรทั้งสิ้น 2,325 ตัวอย่าง โดยแต่ละเขตสำรวจประมาณ 50 คน พบว่า แคมเปญคอนโดที่ดึงดูดใจผู้บริโภคได้มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แถมเฟอร์นิเจอร์ (ครบชุด) 24.40% รองลงมาคือ อยู่ฟรี 1 ปี 22.21% อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 18.75% ฟรีเงินจอง 17.46% และส่วนลดเงินสด 17.38% “ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น สนใจโครงการคอนโดมิเนียมที่เพียงแค่ยกกระเป๋าแล้วเข้าอยู่ได้ทันที เช่นเดียวกับแคมเปญอยู่ฟรี 1 ปี สำหรับโครงการที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ เมื่อมีการส่งแคมเปญดังกล่าวออกมา จะช่วยให้ผู้บริโภคสนใจมากขึ้น” นายชนะ กล่าว ส่วนปัจจัยโดยรวมที่สำคัญต่อการตัดสินใจซื้อ อันดับแรก ได้แก่ ราคาขาย 32% รองลงมาคือ ทำเลที่ตั้ง 24% โปรโมชั่น 19% รูปแบบและสิ่งอำนวยความสะดวก 16% ปัจจัยที่มีผลน้อยที่สุดคือ ชื่อเสียงของผู้ประกอบการ 9% สำหรับเขตที่ผู้บริโภคต้องการย้ายมาซื้อคอนโดมิเนียมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บางกะปิ 31.60% นำห่างอันดับที่ 2 อย่างลาดพร้าวซึ่งมีความต้องการที่ 13.73% ส่วนอันดับที่ 3 คือบางนา 12% ทั้งนี้ สังเกตได้ว่า ในโซนบางกะปินั้นยังมีโครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นน้อย แต่กลับมีความต้องการของผู้บริโภคมาก ด้านขนาดห้องที่ผู้บริโภคต้องการซื้อ มีความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมแบบ 2 ห้องนอนสูงถึง 50.14% แบบ 3 ห้องนอน 34.02% ขณะที่แบบ 1 ห้องนอนซึ่งมีซัพพลายมากในตลาดขณะนี้ มีความต้องการเพียง 9.65% เท่านั้น อย่างไรก็ดี ผลสำรวจข้อดังกล่าวเป็นความต้องการของผู้บริโภคที่สวนทางกับการปฏิบัติจริง เพราะแม้จะต้องการห้องแบบ 2 ห้องนอน แต่เมื่อต้องเผชิญราคาต่อยูนิตไม่ต่ำกว่า 3-4 ล้านบาท ผู้บริโภคก็จะตัดสินใจกลับไปซื้อแบบ 1 ห้องนอน นอกจากนี้โพลล์ยังได้สำรวจความต้องการย้ายที่อยู่อาศัยหลังประสบอุทกภัย ครั้งที่ 2 พร้อมกันด้วย พบว่า ผู้บริโภคที่ต้องการย้ายที่อยู่อาศัยลดเหลือเพียง 15% เท่านั้น จากครั้งแรกที่สูงถึง 37%