ข้อมูลล่าสุดจากบริษัทวิจัย “ไอดีซี” คาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายแทบเล็ตพุ่งขึ้นถึง 122.3 ล้านเครื่อง หรือเกือบ 2 เท่าตัวจากปีก่อนหน้า และคาดว่าจะยังคงมีทิศทางการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อไปนี้คือคาดการณ์ทิศทางตลาดแทบเลตที่จะเกิดขึ้นในปี 2556 “ขนาด” ยังเป็นจุดขาย แทบเล็ตรุ่นใหญ่ เช่น ไอแพด จะยังคงครองความโดดเด่นในตลาดด้วยสัดส่วนราว 59% แต่จากคาดการณ์บริษัทวิจัย “ไอเอชเอส ไอซัพพลาย” ก็ยังเชื่อว่า แทบเล็ตรุ่นเล็ก หรือหน้าจอขนาดย่อมลงมา เช่น 7-8 นิ้ว จะเริ่มมีสัดส่วนในตลาดมากขึ้นจากที่คาดว่าครองส่วนแบ่งยอดจำหน่ายอยู่ต่ำกว่า 34 ล้านเครื่องในปี 2555 ซึ่งเพิ่มแบบก้าวกระโดดจาก 17 ล้านเครื่องเมื่อปี 2554 และเป็นที่เชื่อกันว่าตัวเลขยอดจำหน่ายจะพุ่งเป็น 2 เท่าตัวหรือกินแชร์อย่างน้อย 50% ของตลาดแทบเล็ตทั้งหมดในปีนี้ อย่างไรก็ตามแม้แทบเล็ตรุ่นเล็ก เช่น อะเมซอน คินเดิล ไฟร์ และนุุ๊ค เอชดี ของบาร์นส์ แอนด์ โนเบิลจะได้รับความนิยมในปีที่ผ่านมา แต่บิ๊กเซอร์ไพรซ์กว่าอาจตกเป็นของ “กูเกิล เน็กซัส7” ที่เปิดตัวตามหลังมาเมื่อเดือน มิ.ย.2555 ในกลุ่มแทบเล็ตรุ่นเล็ก โดยดูจากยอดจำหน่ายที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง หรือราว 1 ล้านเครื่องต่อเดือน แต่หากเทียบรัศมีกันแล้ว “เน็กซัส” ก็ยังมีส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบกับ “ไอแพด มินิ” ขนาด 7.9 นิ้วของแอ๊ปเปิ้ล ทั้งๆ ที่ราคาก็แพงกว่ามากในบรรดาแทบเล็ตที่ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ แต่ไอแพด มินิก็ยังขายได้ราว 8 ล้านเครื่องหลังเปิดตัว 2 เดือนแรก และตามธรรมชาติของแอ๊ปเปิ้ลก็จะต้องตามมาด้วยข่าวลือของไอแพด มินิ รุ่นถัดไปที่จะมาพร้อมจอเรติน่าซึ่งเป็นไปได้ว่าไอแพด มินิ 2 จะเปิดตัวช่วงเดือน มี.ค.นี้ คำถามคือ เหตุใดแทบเล็ตรุ่นเล็กจึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่รับเรื่องราคาที่ต่ำกว่าแทบเล็ตขนาดปกติ นายทอม ไมเนลลิ นักวิเคราะห์จากไอดีซี ให้ความเห็นว่า เพราะน้ำหนักที่เบากว่าและเหมาะสำหรับการถือด้วยมือเดียวและยังให้ความรู้สึกของอุปกรณ์เคลื่อนที่มากกว่าแทบเล็ตรุ่นปกติ ผลสำรวจของไอดีซียังชี้ให้เห็นว่า แทบเล็ตขนาดปกติ (10 นิ้ว) มักใช้กับเครือข่ายไวไฟภายในบ้าน ขณะที่แทบเล็ตไซส์เล็กกว่าสามารถถือพกพา หรือใส่กระเป๋าถือหรือแม้แต่กระเป๋าด้านในเสื้อคลุมได้ และยังใช้งานขณะเคลื่อนที่ได้ง่ายกว่าด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ซึ่งก่อนหน้านี้ซีอีโอตำนานอย่าง “สตีฟ จ็อบส์” ของแอ๊ปเปิ้ลเคยกล่าวไว้ว่า แทบเล็ตขนาด 7 นิ้วเป็นรุ่นที่ “ใหญ่เกินไปที่จะแข่งกับสมาร์ทโฟน” แต่ขณะเดียวกันก็ “เล็กเกินไปที่จะแข่งกับตลาดของไอแพดเอง” แต่ผลก็ปรากฎว่าแทบเล็ตขนาด 7 นิ้วกลับเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจำนวนมากต้องการ “เงินไม่ถึง” ไม่ใช่ปัญหา จนถึงปีนี้ราคาของแทบเล็ตก็ยังไม่ถูกลงมาก โดยหากยึดราคา “ไอแพด” เป็นตัวตั้ง ไอแพดรุ่นปกติราคาต่ำที่สุดคือ 500 ดอลลาร์ (ราว 15,000 บาท) สำหรับไวไฟอย่างเดียว ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับทัชแพดของฮิวเลตต์-แพคการ์ดไปจนถึงแบล็คเบอร์รี่ เพลย์บุ๊ค และโมโตโรล่า ซูม แต่สำหรับตลาดแทบเล็ต 7 นิ้วที่เพิ่งเปิดตัว เช่น คินเดิล ไฟร์, เน็กซัส 7 และนุ๊ค เอชพี กำลังอยู่ในช่วงที่สงครามราคาเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น โดยแทบเล็ต 7 นิ้ว ราคาราว 200 ดอลลาร์ (ราว 6,000 บาท) เป็นระดับที่ “กระตุ้นการซื้อ” ได้ดีมาก จนถึงตอนนี้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหากเทรนด์ดังกล่าวยังต่อเนื่องมาถึงปีนี้อาจจะได้เห็นราคาที่ต่ำลงมาอีกเนื่องจากจะเริ่มมีผู้เล่นมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มแทบเล็ตขนาด 7 นิ้ว ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่ “เอเซอร์” จะเป็นรายแรก โดยมีกระแสข่าวว่าจะเป็นรุ่น “ไอโคเนีย บี1” เฉพาะไวไฟ ราคาราว 99 ดอลลาร์ (3,000 บาท) แต่ก็เชื่อว่าแทบเล็ตรุ่นดังกล่าวจะทำเฉพาะบางตลาดเท่านั้น เช่น จีน ที่แข่งกันในระดับราคาที่ไม่แพง หรือแทบเล็ตโนเนมที่มีขายกราดเกลื่อนในประเทศช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่หาก “บี1” ได้รับการตอบรับที่ดีก็เป็นไปได้ที่จะเริ่มมีสัดส่วนในตลาดมากขึ้น แต่ระดับราคาดังกล่าวก็อาจจะเป็นตลาดแทบเล็ตที่เรียกว่า “หากเสียก็ทิ้งเลย” สำหรับให้เด็กนักเรียนใช้เรียนแบบโมบิลิตี้บ้างในบางโอกาสเท่านั้น “แอนดรอยด์” ขยายอาณาเขต ปี 2553 แอ๊ปเปิ้ลครองส่วนแบ่งในตลาดแทบเล็ตได้อย่างแข็งแกร่งถึง 87% แต่หลังจากการแข่งขันเริ่มรุนแรงขึ้น สัดส่วนของแอ๊ปเปิ้ลก็เริ่มลดลงตั้งแต่นั้นมา โดย “ไอดีซี” ประเมินว่า ปีที่ผ่านมาส่วนแบ่งตลาดของแอ๊ปเปิ้ลถดถอยลงมาอยู่ที่ 53.8% ขณะที่แทบเล็ตแอนดรอยด์กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 42.7% ด้วยแรงส่งจากรุ่นยอดฮิตทั้งเน็กซัส, คินเดิล ไฟร์ และนุ๊ค นอกจากนี้แผนการเปิดตัวแทบเล็ตที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนจากนี้ “ซาเมียร์ ซิงฮ์” นักวิเคราะห์จากฟินวิสต้า แอดไวเซอร์ส์เชื่อว่า ปี 2556 จะเป็นปีที่แทบเล็ตบนแพลตฟอร์ม “ไอโอเอส” จะต้องเสียความโดดเด่นในตลาดให้แก่แพลตฟอร์มของหุ่นยนต์กระป๋องเขียว (แอนดรอยด์) ซึ่งเป็นการคาดการณ์จากยอดขายไอแพดที่ตกลงถึง 18% ในช่วงไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา เพราะส่วนใหญ่รอการเปิดตัวไอแพด มินิ และหลังจากที่สินค้าดังกล่าววางตลาดแล้วก็ดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่ชัดเจนนักว่าสถานการณ์ปีนี้จะมีจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ อีกหรือไม่ อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากไอโอเอสและแอนดรอยด์ “ม้ามืด” ที่อาจสร้างความสั่นสะเทือนให้วงการแทบเล็ตปีนี้มาแล้วนั่นคือ “วินโดว์ส” ไอดีซีคาดการณ์ว่า ภายในปี 2559 “ไอโอเอส” และ “แอนดรอยด์” จะครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ที่ 49.7% และ 39.7% ตามลำดับ แต่วาง “วินโดว์ส” ไว้ในฐานะคู่แข่งใหม่ในตลาดแทบเล็ตที่คาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดราว 10.3% แม้ว่าจะมีแทบเล็ต “เซอร์เฟซ” ออกมาชิมลางตลาดก่อนแล้วโดยใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส อาร์ที ที่ออกแบบบนสถาปัตยกรรมอาร์มที่เกือบจะไม่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภค แต่ปี 2556 กับการเปิดตัว “เซอร์เฟซ โปร” ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส 8 อย่างสมบูรณ์แบบก็ถูกคาดหวังว่าจะสร้างความสั่นสะเทือนให้ตลาดได้มากกว่า อย่างไรก็ตามแม้แทบเล็ต “แอนดรอยด์” จะชิงส่วนแบ่งตลาดแซงหน้าไอโอเอสได้ในปีนี้ แต่แอ๊ปเปิ้ลก็ยังจะขายไอแพดได้ถึง 58 ล้านเครื่องในปีงบประมาณ 2555 นำหน้าแทบเล็ตแอนดรอยด์ที่มียอดขายรวมจากผู้ผลิตทุกรายเป็นตัวเลขหลักเดียว ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า “ไอแพด” จะยังคงเป็นผู้นำตลาดในอนาคตอันใกล้นี้ “แทบเล็ต” แซงหน้าแลปท็อป เป็นเวลานับทศวรรษแล้วสำหรับการจะใช้คอมพิวเตอร์พกพาที่มีคุณสมบัติสูงๆ ซึ่งจะต้องแบกน้ำหนักที่มากตามไปด้วย แต่ด้วยแอพพลิเคชั่นที่มีบนแทบเล็ตและพัฒนาการของเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้แทบเล็ตมีความสามารถมากขึ้น จนถึงขั้นที่อาจทำให้แลปท็อปสูญเสียบัลลังก์ผู้นำในตลาดพีซีไปได้ โดยเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมานักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมพบว่า ในจำนวนบริษัทผู้ผลิตแลปท็อปรายใหญ่ทั้ง 9 รายมีเพียง 4 รายเท่านั้นคือ โซนี่, เอซุส, เลอโนโว และแอ๊ปเปิ้ลเท่านั้นที่คาดว่าปีนี้จะขายแลปท็อปได้มากกว่าปี 2555 โดยเฉพาะ “เลอโนโว” ที่ดูจะมั่นใจมากที่สุด คาดการณ์ยอดจำหน่ายแลปท็อปไว้ที่ 31 ล้านเครื่องจากปีก่อน 27 ล้านเครื่อง ส่วน “เดลล์” กลับมองว่ายอดขายจะตกลงเหลือเพียง 16 ล้านเครื่องในปีนี้จากปีก่อน 25.3 ล้านเครื่อง ขณะที่ภาพรวมตลาดคาดว่ายอดขายแลปท็อปจะลดลงเหลือ 173.2 ล้านเครื่อง จากเดิม 187.4 ล้านเครื่อง ส่วนยอดขายแทบเล็ตในปีนี้จะสูงราว 172 ล้านเครื่อง