เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงคุ้นเคยกับเพลงชาติและการยืนเคารพธงชาติมาตั้งเด็ก เพราะเราถูกสอนให้เคารพธงชาติก่อนเข้าเรียนทุกเช้า และเห็นผู้คนในที่สาธารณะหยุดยืนนิ่งเมื่อเพลงชาติดังขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นวัฒนธรรมและการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติ แต่เมื่อไม่นานมานี้กลับมีกรณีของแม่ค้าที่ตบหน้าเด็กด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ยืนเคารพธงชาติ ทำให้ผู้เขียนต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าการแสดงออกของผู้ใหญ่ที่ยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อชาตินั้นจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงกับเด็กที่ไม่ทำอย่างที่ตนต้องการหรือ? ถ้าอย่างนั้นแล้วการไม่ยืนเคารพธงชาติเป็นความผิดที่สมควรถูกลงโทษหรือไม่?
เปิดความเป็นมา ทำไมเราต้องยืนเคารพธงชาติ?
“ยืนตรงเคารพธงชาติ” เป็นสิ่งที่เริ่มสร้างขึ้นในยุคที่ประเทศของเรากำลังปฏิวัติวัฒนธรรมโดยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม มีการกำหนดระเบียบข้อกฎหมายออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนเกี่ยวกับวัฒนธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “พ.ร.บ. วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2485” มาตรา 6 ระบุว่าทุกคนต้องเคารพธงชาติเวลา 8.00 น. ทุกวัน รวมถึงในงานพิธีและงานมหรสพต่าง ๆ ด้วย ช่วงแรก ๆ การเคารพธงชาติยังไม่เป็นที่นิยม จนกระทั่งมีสื่อรายการวิทยุกระจายเสียงยอดนิยมชื่อ “นายมั่น-นายคง” ประกาศเชิญชวนทุกคนให้ยืนเคารพธงชาติกันเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2485 วันต่อมาจึงเรียกได้ว่าเป็นวันแรกของการยืนเคารพธงชาติโดยทั่วกันของคนไทย คือวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2485 ที่ผ่านมาแล้ว 78 ปีนั่นเอง
อัปเดตข้อกฎหมาย ไม่ยืนเคารพธงชาติผิดหรือไม่?
เมื่อยุคสมัยผ่านไปบางสิ่งบางอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง กฎหมายที่เกี่ยวกับการเคารพธงชาติก็เช่นกัน จากแต่เดิมที่หากใครฝ่าฝืนไม่เคารพธงชาติจะมีโทษทั้งปรับหรือจำคุกเลยทีเดียว ต่อมาในปี พ.ศ.2553 ข้อบังคับเหล่านี้ก็ถูกยกเลิกไปในสมัยของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการออก พ.ร.บ. วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2553 ซึ่งระบุว่าให้ยกเลิก พ.ร.บ. หลายฉบับรวมถึง พ.ร.บ. วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2475 ที่มีเรื่องการเคารพธงชาติด้วย นั่นจึงเท่ากับว่าการบังคับให้เคารพธงชาติถูกยกเลิกไปแล้วและผู้ที่ไม่ยืนเคารพธงชาติก็ไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ทำร้ายคนไม่เคารพธงชาติ จงรักภักดีหรือคลั่งชาติเกินเหตุ?
หากว่ากันตามตรงแล้วในกรณีของแม่ค้าที่ตบหน้าเด็กอายุ 15 นั้นผู้ที่ทำร้ายร่างกายคนอื่นย่อมเป็นผู้มีความผิดทางอาญาแน่นอน ไม่ว่าจะมีการโต้เถียงกันอย่างไรแต่ก็ไม่มีใครมีสิทธิทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ คนในสังคมต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าการยืนตรงเคารพธงชาตินั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล เราไม่ควรปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติในสังคม ไม่มีใครห้ามไม่ให้คุณยืนและคุณก็ไม่มีสิทธิบังคับใครให้ยืนได้เช่นกัน เพราะไม่ใช่เรื่องที่มีแก่นสารจนถึงขั้นคอขาดบาดตายอะไรนักและไม่ได้ทำให้มีใครเดือดร้อน ความเห็นต่างในสังคมเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตยที่ผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างหลากหลาย แต่หากความคิดเห็นนั้นเป็นการละเมิดหรือเบียดเบียนคนอื่นสิ่งนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ หากจะพูดถึงการแสดงความจงรักภักดีและรักชาติ มีวิธีการมากมายที่สามารถแสดงออกได้ ถ้าคุณเป็นนักเรียนคุณก็สามารถตั้งใจเรียนเพื่อพัฒนาความรู้และนำไปใช้ในอนาคต คนทั่วไปก็สามารถพัฒนาตนเองเพื่อทำงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ผู้เขียนคิดว่ามีปัญหาในสังคมมากมายที่เราควรให้ความสำคัญและช่วยกันแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความเหลื่อมล้ำ หรือระบบการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ ดีกว่าการมาจับผิดใครว่าไม่ยืนเคารพธงชาติเสียอีก
Reference
14 กันยายน 2485: ยืนตรงเคารพธงชาติไทยเป็นครั้งแรก, (2561), จาก silpa-mag.com: https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_20263
เปิดข้อกฎหมาย ไม่ยืนตรงเคารพธงชาติ มีความผิดหรือไม่?, (2563), จาก ข่าวสดออนไลน์: https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_5202662