นายเดวิด เอ โกรส อดีตผู้ประสานงานนโยบายการสื่อสาร และการสารสนเทศระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำกระทรวงการต่างประเทศ และดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายปฏิบัติงานโทรคมนาคมสารสนเทศของสำนักงานกฎหมายวิสลีย์ ไรน์ กล่าวว่า การประชุมของสหภาพภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือระดับรัฐบาลของประเทศในอาเซียน เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเพื่อนำข้อสรุปร่วมกันของทุกประเทศไปเสนอในการประชุมเวิลด์ คอนเฟอเรนซ์ ออน อินเตอร์เนชั่นแนล เทเลคอมมูนิเคชั่น 2012 (WCIT-12) ที่ประเทศสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ วันที่ 3-14 ธ.ค.นี้ ส่วนของไทยนั้น การกำกับดูแลอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ถือว่าอยู่ในทิศทางที่เหมาะสม แต่เขาต้องการเรียกร้องให้รัฐบาล และองค์กรอิสระในการกำกับดูแล คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วางนโยบาย โรดแมพ แผนการผลักดันในด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และไอซีทีอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม การดำเนินการต่อเนื่อง และที่สำคัญรัฐบาลควรเปิดให้ภาคประชาชน และผู้ประกอบการเอกชนมีส่วนร่วมเข้ามากำหนดนโยบายร่วมกัน “หากมองการเปิดเสรีอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ต้องยอมรับว่าไทยมีโอกาสการเติบโตได้ดีกว่า ทั้งจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่มีอัตราการเติบโตอย่างมาก แต่ไทยก็จะต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่จะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการกำหนดกฎระเบียบถือเป็นเรื่องสำคัญ” เขา กล่าวว่า ในการประชุม WCIT-12 จะหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศซึ่งเป็นพื้นฐานของการเชื่อมต่อ ภายใต้กฎข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (อินเตอร์เนชั่นแนล เทเลคอมมูนิเคชั่น เรกูเลชั่น) หรือไอทีอาร์เอส สำหรับการสื่อสารกันระหว่างข้อมูลผู้ใช้ทั่วโลก ด้วยวอยซ์ (เสียง) วีดิโอ หรือข้อมูลผ่านโทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์ แต่ข้อบังคับยังไม่ครอบคลุมถึงการให้บริการอินเทอร์เน็ต ดังนั้น การหารือจะหาข้อยุติว่า อินเทอร์เน็ตควรบรรจุอยู่ในสนธิสัญญาดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้ การหารือในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศแถบอเมริกานั้น มีความเห็นที่ต่างกันหลายประเด็น ซึ่งบางประเทศก็ต้องการให้จำกัดขอบเขตการใช้งานอินเทอร์เน็ต และให้ไอทียูมาเป็นเรกูเลเตอร์ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต แต่บางประเทศก็ต้องการให้เกิดการควบคุมกันเองของผู้ประกอบการ และผู้ใช้งาน เพราะหากมีกฎหมายบังคับใช้แล้ว จะเป็นการชะลอการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และองค์ความรู้ ผลสำรวจของไอทียูพบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกราว 2,400 ล้านคน เฉพาะในเอเชียมีมากกว่า 1,000 ล้านคน และมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง 45% ยุโรปมีอัตราการเข้าถึง 22% และอเมริกาเหนือ 12% หากเทียบช่วง 10 ปีย้อนหลัง การใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตมากกว่า 800%