28 พ.ย.55 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แถลงผลการตรวจสอบการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 (3จี) ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ตามที่กสทช.ได้ทำหนังสือขอให้ดีเอสไอตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ในการออกหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ การจัดประมูล ว่ามีการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ(พ.ร.บ.ฮั้ว)หรือไม่นั้น ผลการตรวจสอบขณะนี้ดีเอสไอยังไม่พบการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ฮั้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมาดีเอสไอได้เรียกเจ้าหน้าที่กสทช. ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่น การจัดประมูล จำนวน 9 คน มาให้ปากคำเพิ่มเติม โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกสทช. ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม นายธาริต กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันและดีเอสไอจะตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจนคือข้อถกเถียงเกี่ยวกับการกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 4,500 ล้านบาท ในขณะที่ผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่าควรกำหนดราคาประมูลขั้นต้นไว้ที่ 6,440 ล้านบาท และกรณีที่มีผู้เข้าประมูลเพียง 3 ราย ดังนั้น ดีเอสไอจึงขอให้กสทช.ทำหนังสือและส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาเพื่อยืนยันคำให้การที่ได้เข้าชี้แจ้งก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าจะตรวจสอบแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะแจ้งผลตรวจสอบไปให้กสทช.รับทราบอย่างไรก็ตาม เนื่องจากกสทช. ได้ยื่นเอกสารให้หลายหน่วยงานตรวจสอบ ซึ่งดีเอสไอเป็นเพียงหนึ่งในหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบแต่ผลสอบดังกล่าวไม่มีผลผูกพันธุ์กับหน่วยงานอื่น ด้านนายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ รองผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 กล่าวว่า ดีเอสไอตรวจสอบทุกประเด็นแต่ประเด็นหลักที่อยู่ในอำนาจตรวจสอบคือเรื่องฮั้ว แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนในประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงดีเอสไอจึงขอให้กสทช.ทำหนังสือและส่งเอกสารประกอบการชี้แจงเพื่อเป็นการยืนยัน โดยประเด็นที่เจ้าหน้าที่กสทช.เข้ามาชี้แจงแล้วคือกรณีการกำหนดราคาประมูลเริ่มต้นซึ่งยึดที่ตัวเลข 4,500 ล้านบาท ไม่ใช่ 6,440 ล้านบาท ตามผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เพราะตามเอกสารที่จริงมีหลักเกณฑ์ว่าต้องกำหนดราคาขั้นต่ำ 67 % ของ6,440 ล้านบาท แต่กสทช.ปรับเป็น 70% ราคาขั้นต่ำจึงอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท ส่วนประเด็นที่มีผู้เข้าประมูลเพียง 3 ราย ดีเอสไอขอให้กสทช.ส่งเอกสารตามที่ให้การว่ามีการกำหนดลักเกณฑ์เคาะราคารัดกุม และเป็นวิธีพิเศษที่ไม่ใช่การเคาะราคาแบบอีอ็อคชั่นที่ให้ราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะ แต่ยังมีรายละเอียดการเคาะราคาพร้อมกัน 9 ช่องหลายครั้ง จากการชี้แจงทำให้ดีเอสไอสรุปผลเบื้องต้นว่าการประมูลมีการแข่งขันราคา จึงไม่เข้าข่ายฮั้ว [code]ที่มา : http://www.dailynews.co.th/technology/169490 [/code]