สวัสดีคอไอทีทุกคน ครั้งนี้เรามีข่าวสำคัญจะแจ้งให้ทราบว่า เร็วๆ นี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเผยต้นแบบแว่น VR ที่กำลังพัฒนาและเตรียมเปิดตัวในอนาคต รายละเอียดจะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) โชว์ต้นแบบแว่น VR ของบริษัทตน จำนวนทั้งหมด 4 รุ่น ซึ่งแว่นทั้งหมดเป็นของที่พัฒนามาจากในห้องแล็บของแผนก Reality Labs Research โดยแว่นทั้งหมดที่เอามานำเสนอนี้ ถูกยืนยันว่ายังไม่พร้อมที่จะนำมาวางจำหน่ายได้จริง อย่างไรก็ตามไม่มีการเปิดเผยว่าตัวแว่นแต่ละตัวใช้เงินทุนในการพัฒนาไปมากเท่าไร นอกจากนี้ยังได้มีการเปิดเผยถึงแนวคิดในการพัฒนาและกระบวนการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี VR ของ Meta ออกมาอีกด้วย
- Zuckerberg ยืนยันว่าระบบ VR ของบริษัทตนมีเป้าหมายเพื่อสร้างภาพจำลองที่เป็นของจริง หรือพูดง่าย ๆ คือการจำลองสร้างดวงตาหรือการมองเห็นของมนุษย์ขึ้นมานั่นเอง สิ่งนี้จะทำให้เราเชื่อว่าภาพที่ได้เห็นนั้นคือของจริงจนแยกออกไม่ได้ โดยกระบวนการพัฒนานี้จะถูกเรียกว่า “visual Turing Test” แนวทางหรือส่วนประกอบที่จะทำให้ตามนุษย์เชื่อว่าภาพที่เห็นนั้นเป็นของจริง โดยไอเดียดังกล่าวมาจากแนวคิดที่คล้าย ๆ กับวิธีการที่มนุษย์สามารถแยกความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ได้
ทางทีมมองว่ามีอยู่ 4 สิ่ง ที่จะทำให้กระบวนการ visual Turing Test สำเร็จ นั่นคือ Varifocal, Distortion, Retina Resolution, และ HDR
- Varifocal: ความสามารถโฟกัสในความลึกของภาพ สิ่งนี้จะทำให้เราสามารถมองฉากที่เห็นได้สมจริง เปรียบเสมือนโฟกัสสำคัญของดวงตาของเรา
- Distortion: ความสามารถในการบิดเบือน ทำให้เห็นแสงที่ถูกบิดเบือนเหมือนที่ตาของเราเห็นอย่างแท้จริง สิ่งนี้ช่วยให้เราสามารถแยกสีและแสงได้
- Retina resolution: ระดับความละเอียดในหน้าจอ ที่ต้องมากพอจะสามารถตอบสนองหรือมากเกินกว่าที่ตาของมนุษย์จะแยกแยะได้ ภาพที่เห็นจะละเอียดจนเราไม่เห็นว่าภาพที่เห็นนั้นเป็นพิกเซล
- HDR: High Dynamic Range ช่วงของความมืดและความสว่าง ที่มนุษย์มองเห็นอย่างแท้จริง
ผลิตภัณฑ์แว่น VR ของมาร์ค มีดังนี้
Butterscoth
เป็นแว่น VR ที่ออกแบบมาให้สามารถแสดงความละเอียดออกมาให้ได้มากที่สุด โดยสามารถแสดงความละเอียดได้สูงถึงในระดับ Retinal resolution ที่ 60 พิกเซลต่อองศา ช่วยให้มองเห็นได้ 20/20 ในการสร้างความละเอียดระดับนี้ พวกเขาจำเป็นต้องสร้างหน้าจอที่มีจำนวนพิกเซลที่หนาแน่นมาก ๆ ซึ่งทำให้มีขนาดที่เล็กลง ทางทีมยังได้พัฒนาเลนส์ไฮบริด ที่สามารถปรับและควบคุมความละเอียดได้
Half Dome
แว่นรุ่นนี้ถูกออกแบบสำหรับทดสอบเรื่อง Varifocal การโฟกัสกับวัตถุบนจอที่มีระยะใกล้ไกลต่างกัน ทำให้สามารถปรับระยะโฟกัสได้ ตัวจอจะมีกลไกสำหรับการเปลี่ยนระยะระหว่างหน้าจอกับเลนส์อยู่ ทำให้สามารถเปลี่ยนระยะความชัดลึกของตัวภาพได้
Starburst
แว่นตัวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบเรื่อง HDR โดยเฉพาะ ตัวแว่นสามารถปรับความสว่างได้มากถึง 20,000 nits ซึ่งสูงกว่าทีวี HDR ในปัจจุบันมากถึง 10 เท่า เป้าหมายของการใช้ HDR นั่นคือการมองเห็นความสว่างที่สมจริง โดยเฉพาะอะไรที่สว่างมาก ๆ เช่น ไฟไหม้ การระเบิด ดอกไม้ไฟ หรือแม้แต่แสงสะท้อนจากหน้าต่างในวันที่ไม่มีเมฆ
เลนส์
Meta มองว่าเลนส์คือสิ่งสำคัญในการพัฒนาเรื่อง Distortion แต่การออกแบบเลนส์ที่สามารถจำลองค่า Distortion ได้เหมือนจริงเท่ากับที่มนุษย์รับรู้ได้ เป็นอะไรที่ยากมาก และไม่สามารถทำออกมาได้ในเร็ว ๆ นี้ ดังนั้นทางทีมจึงสร้างระบบสำหรับจำลองการบิดเบือนขึ้นมา โดยใช้เทคโนโลยี 3DTV และจำลองเลนส์ขึ้นมาเป็นระบบซอฟต์แวร์แทน สิ่งนี้ช่วยให้ทางทีมแก้ปัญหาเรื่องการบิดเบือนของเลนส์แบบไดนามิกในขณะที่ตาเคลื่อนที่ได้สำเร็จ
Holocake
แว่นตัวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อนำเทคโนโลยี 4 อย่างจากที่กล่าวมาข้างต้นเข้ามารวมกัน แล้วทำการย่อขนาดตัวแว่นให้เล็กลง เพื่อให้สามารถใส่ได้อย่างสบาย ๆ ทางทีมศึกษาทั้งเรื่องของเลนส์โฮโลแกรมแบบพับได้ มีชื่อว่า Holocake 2 พร้อมแก้ปัญหาเรื่องของความยาวของเส้นทางแสงและความกว้างของเลนส์ ทั้งนี้ Holocake 2 จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องระยะห่างของเลนส์และหน้าจอได้ แต่ด้วยความสามารถทั้งหมด ทำให้แว่น VR ตัวนี้ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่ ตัวแว่นยังจำเป็นต้องเชื่อมกับเครื่อง PC เพราะมันจำเป็นต้องใช้การประมวลผลอย่างหนัก และกินแบตมาก ๆ
และนี่ก็คือข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจล่าสุดเกี่ยวกับแว่น VR ของนายมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์กที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะสร้างความตื่นเต้นแก่คอไอทีทุกคน และหากมีข่าวคืบหน้าประการใดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที