เรียกเสียงฮือฮาได้มากเมื่อรายงานจากเว็บไซต์ 9to5Google อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ระดับสูง ระบุว่ากูเกิลจะเปิดบริการร้านค้าปลีกของบริษัทก่อนช่วงเทศกาลคริสต์มาสปีนี้ จุดประสงค์คือการเปิดช่องให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงฮาร์ดแวร์ของกูเกิลได้ทั่วถึงกว่าเดิมที่มีการประชาสัมพันธ์และทำตลาดบนเว็บไซต์กูเกิลเป็นหลัก โดยเบื้องต้นคาดว่าสินค้าที่กูเกิลจะนำมาแสดงในร้านนี้มีทั้งอุปกรณ์ตระกูลเน็กซัส (Nexus) โครมบุ๊ก (Chromebook) รวมถึงการประเดิมเปิดเผยรายละเอียดโครงการที่กูเกิลยังตั้องพัฒนาอีกมากอย่างแว่นตาอัจฉริยะ “กูเกิลกลาส (Google Glass)” อย่างไรก็ตาม ข่าวลือนี้ถูกวิจารณ์ในหลายแง่มุม โดยเฉพาะคำถามว่ากูเกิลจำเป็นต้องตั้งร้านค้าปลีกของตัวเองขึ้นมาจริงหรือ ซึ่งหากกูเกิลตั้งร้านค้าปลีกขึ้นมาจริง ก็อาจทำให้ผลิตภัณฑ์หลายโครงการของกูเกิลสามารถยกระดับกระแสได้ดีกว่าช่วงที่ผู้บริโภคไม่มีโอกาสได้เห็นหรือใช้งานด้วยตัวเอง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถยกระดับความร่วมมือกับพันธมิตรที่กูเกิลมีในปัจจุบันได้ แต่ที่ผ่านมา กูเกิลมีพื้นที่จำหน่ายและสาธิตสินค้าของตัวเองในร้านค้าปลีกรายใหญ่อย่างเบสต์บาย (Best Buy) และร้านพีซีเวิร์ล (PC World) ในอังกฤษแล้ว โดยพื้นที่เหล่านี้ถูกเรียกว่า Chrome Zone ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริโภคไม่น้อยในแต่ละวัน ทั้งหมดนี้ทำให้สื่อต่างประเทศมองว่า ข่าวลือที่เกิดขึ้นนั้นค้านกับแผนพัฒนา Google Glass เนื่องจากกูเกิลจะสามารถควบคุมต้นทุนและสามารถสร้างแรงกระเพื่อมในวงการคอนซูเมอร์ได้ดีกว่าการแยกไปตั้งร้านค้าปลีกของด้วยเงินทุนของตัวเอง อีกสิ่งที่สามารถสะท้อนได้จากข่าวลือนี้ คือ สัญญาณที่ชี้ว่ากูเกิลต้องการจะควบคุมประสบการณ์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากสินค้าของกูเกิลในแบบต้นจนจบหรือ end-to-end ซึ่งเป็นแบบฉบับที่แอปเปิล (Apple) เคยทำมาก่อน ในภาพรวม นักวิเคราะห์เชื่อว่าแผนนี้ยังมีช่องโหว่เนื่องจากกูเกิลยังต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะทำกำไรได้จาก Google Glass หรือแม้แต่สินค้าที่ทำตลาดแล้วในนาทีนี้อย่างสมาร์ทโฟน Nexus 4, แท็บเล็ต Nexus 7 และ 10 ซึ่งฮาร์ดแวร์เหล่านี้ถูกตั้งราคาไว้ไม่สูงเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้งานบริการและแอปพลิเคชันแอนดรอยด์ หากรวมกับค่าใช้จ่ายมากมายที่จะเพิ่มขึ้นหากกูเกิลตั้งร้านค้าปลีกของตัวเอง กูเกิลจะต้องทำงานหนักเพื่อให้คุ้มกับค่าเช่าพื้นที่ ค่าฝึกอบรมพนักงาน ค่าออกแบบตกแต่ง และค่าบำรุงรักษา ซึ่งแม้การตั้งร้านค้าปลีกใหม่ของกูเกิลจะส่งผลดีต่อการทำตลาดในภาพรวมและระยะยาว แต่ก็ถือเป็นงานหนักที่ยังมีความเสี่ยงไม่น้อย เหนืออื่นใด ความเสี่ยงนี้ถูกมองว่าอาจคุ้มค่าในมุมมองของกูเกิล เนื่องจากหากมองข้ามต้นทุนไป กูเกิลจะสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ให้เป็นแบรนด์สินค้าผู้บริโภคหรือคอนซูเมอร์แบรนด์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะมีผลต่อแบรนด์กูเกิลมากกว่าโครงการอินเทอร์เน็ตฟรีที่กูเกิลเคยทำอย่าง Fiber Space ในเมือง Kansas City เสียอีก และอาจจะมีผลต่ออิทธิพลของแบรนด์กูเกิลในระดับที่หลายคนคาดไม่ถึงก็ได้ ตามธรรมเนียม กูเกิลยังไม่ตอบรับหรือปฏิเสธรายงานข่าวที่เกิดขึ้น [code]ที่มา : http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9560000020743 [/code]