ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียเริ่มมีความตื่นตัวในเทคโนโลยีด้านอวกาศ แต่ละชาติแข่งขันกันพัฒนาเพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการพิชิตพรมแดนสุดท้าย นั่นคือวันนี้ที่มนุษย์จะออกจากโลกที่เป็นดาวแม่ ออกไปผจญภัยยังห้วงอวกาศอันไกลโพ้น หนึ่งนั้นก็คือประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ล่าสุดพวกเขาได้ออกมาเผยถึงรายละเอียดของภารกิจส่งยานอวกาศสำหรับสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีแล้ว รายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามอ่านกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
– ภารกิจนี้ถูกเรียกว่า ‘ภารกิจเอมิเรตส์สู่แถบดาวเคราะห์น้อย (Emirates Mission to the Asteroid Belt)’ อันมีจุดประสงค์เพื่อค้นหาน้ำและสารอินทรีย์ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงสิ่งมีชีวิตนอกโลก นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังคาดการณ์ไว้ด้วยว่าดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีจะช่วยไขคำตอบได้ว่าน้ำในอวกาศเดินทางมาอยู่บนโลกของเราได้อย่างไร
- โดยก่อนหน้านี้ในปี 2021 ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เคยออกมาประกาศว่ามีแผนที่จะเปิดตัวภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ซึ่งยานอวกาศจะไปเยือนดาวเคราะห์น้อยทั้งหมด 7 ดวง ภายในปี 2028 โดยบริเวณดังกล่าวอยู่ห่างจากโลก 179.5 – 329 ล้านกิโลเมตร
-
สำหรับยานอวกาศที่จะใช้มีชื่อว่าเอ็มบีอาร์ เอ็กซ์โพลเลอร์ (MBR Explorer) ซึ่งจะลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยด้วยแรกภายในปี 2030 และจะลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยดวงสุดท้ายคือจัสติเทีย (Justitia) ภายในปี 2034 อันเป็นจุดหมายที่เป็นไฮไลต์สำคัญของภารกิจเนื่องจากดาวเคราะห์น้อยจัสติเทียถูกสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นมาใกล้กับโลก หากนักดาราศาสตร์สามารถค้นพบน้ำและสารอินทรีย์บนดาวเคราะห์น้อยจัสติเทียได้อาจช่วยไขปริศนาได้ว่าน้ำและสิ่งมีชีวิตบนโลกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
-
นอกจากนี้ การแถลงล่าสุดของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังเผยถึงเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่จะเดินทางไปพร้อมกับยานอวกาศ ซึ่งมีทั้งหมด 4 ชิ้น ได้แก่ กล้องความละเอียดสูง, กล้องอินฟราเรดความร้อน, สเปกโตรมิเตอร์ความยาวคลื่นกลาง และ อินฟราเรดสเปกโตรมิเตอร์
และนี่ก็คืออีกหนึ่งข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงอวกาศที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบถูกใจคอไซไฟอวกาศทุกคน และหากมีความคืบหน้าประการใดเกี่ยวกับโครงการนี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที