ภาพของรถในอนาคตสร้างขึ้นจากนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงนั้น รถในปัจจุบันได้รับการพัฒนาโดยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อตอบสนองต่อทุกความต้องการของผู้ขับขี่ ทั้งความต้องการพื้นฐาน เช่น ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และที่เพิ่มขึ้นก็คือ ด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ได้พัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ เช่น เทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียง (Voice control) เทคโนโลยีการป้องกันอุบัติเหตุ (Accident prevention) และเทคโนโลยีการติดตามเฝ้าระวังทางการแพทย์ (Medical monitoring) จากการทดลองระบบชุดของคำสั่งที่จดจำเสียงของฟอร์ด ซิงค์ ระบบใหม่ ซึ่งพัฒนาร่วมกับ นูอันซ์ คอมมิวนิเคชั่น ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ด้านการจดจำเสียง เทคนิคใหม่จะจำคำพูดหรือประโยคที่ผู้ขับขี่อาจจะใช้บ่อย ๆ ในการสนทนา มีความเข้าใจคำสั่งมากกว่าเดิม บริจิต ริชาร์ดสัน วิศวกรระบบการพูดและเทคโนโลยีควบคุมด้วยเสียง ฟอร์ด โกลบอล บอกว่า ได้เรียนรู้ระบบจดจำด้วยเสียงของผู้ขับขี่มากขึ้นจากระบบ ซิงค์ ในแต่ละรุ่น และได้ปรับแต่งการทำงานอย่างต่อเนื่อง ได้ทบทวนวิธีการพัฒนาระบบจดจำด้วยเสียงไปสู่อีกระดับของการสั่งและควบคุม ทำให้ระบบมีความเชี่ยวชาญ ใช้งานง่ายมากขึ้น ส่วนการดูแลสุขภาพของผู้ขับขี่ นักวิจัยอยู่ระหว่างพัฒนาเก้าอี้ตรวจสอบระดับการเต้นของหัวใจซึ่งสามารถจับระดับการเต้นของหัวใจของผู้ขับขี่ได้ เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ฟอร์ด ยุโรป ณ เมืองอาเคน ประเทศเยอรมนี และมหาวิทยาลัยอาเคน เยอรมนี เก้าอี้ในรถจะมีเลเซอร์ 6 จุด ตรวจจับสัญญาณคลื่นไฟฟ้าจากหัวใจ เพื่อช่วยผู้ที่กำลังมีปัญหาเรื้อรังหรือมีปัญหาด้านสุขภาพขณะเดินทาง ข้อมูลที่ได้มาจากเลเซอร์ สามารถนำมาวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หรือซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ จากการเชื่อมบริการทางการแพทย์ทางไกลและระบบเพื่อความปลอดภัยภายในรถ ในอนาคตเราอาจแจ้งเตือนผู้ขับขี่ถึงสภาวะหัวใจล้มเหลวก่อนที่จะเกิดขึ้นและแจ้งเตือนหน่วยช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์เพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบช่วยเบรกที่ความเร็วต่ำ (Active City Stop) ลดความเสี่ยงจากการชนเมื่อขับที่ความเร็วต่ำได้ด้วยการส่งสัญญาณตรวจไปบนถนนข้างหน้าเมื่อการจราจรติดขัด และช่วยเบรกอัตโนมัติหากมีความเสี่ยงที่จะเกิดการชน เมื่อขับที่ความเร็วต่ำกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เซ็นเซอร์ ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านบนสุดของกระจกหน้ารถจะสแกนพื้นที่ประมาณ 7.6 เมตรด้านหน้ารถเพื่อตรวจหาวัตถุที่อาจขวางอยู่ข้างหน้า หากตรวจพบว่า รถคันข้างหน้าเบรก ชะลอ หรือจอดนิ่ง ๆ และคาดว่าอาจเกิดการชนได้ ระบบจะทำงานในสภาพพร้อมเบรก หากไม่มีการตอบสนองจากผู้ขับขี่ โดยระบบจะส่งแรงเบรกไปยังล้อต่าง ๆ แบบอัตโนมัติ พร้อมลดแรงบิดของเครื่องยนต์ ในปี 2557 คณะกรรมาธิการยุโรป มีมติให้รถทุกคันติดตั้งเทคโนโลยีเบรกฉุกเฉินเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ระบบตรวจจับรถในจุดบอด (Blind Spot Information System – BLIS) ช่วยเตือนผู้ขับขี่ให้ทราบเมื่อมีรถขับเข้ามายังพื้นที่ซึ่งเป็นจุดบอดทั้งด้านซ้ายและขวาของรถ อุปกรณ์ดังกล่าวใช้ชุดเรดาร์แบบมีรัศมีหลายด้านซึ่งติดตั้งอยู่ที่มุมด้านนอกของกันชนท้ายตรวจดูว่ามีรถขับเข้ามาในส่วนที่เป็นจุดบอดหรือไม่ หากพบระบบจะแสดงไฟสัญญาณบนกระจกข้างเพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบว่ามีรถขับเข้ามาใกล้ส่วนที่เป็นจุดบอด รถที่สามารถจอดและขับได้เองโดยใช้ระบบ “ออโต้ไพล็อต” เราอาจจะได้เห็นรถที่ควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์บนท้องถนนภายในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งรถเหล่านี้จะสามารถสื่อสารกับรถคันอื่นที่อยู่บนท้องถนน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ถนน ทั้งยังสามารถเตือนผู้ขับขี่ถึงอุบัติเหตุข้างหน้าและความสามารถอื่น ๆ อีกมากมาย ฟอร์ดเชื่อว่า อีก 7 ปีข้างหน้า จะได้เห็นรถมีระบบเตือนระหว่างรถด้วยกันเองและระบบ “ออโต้ไพล็อต” ในช่วงที่การจราจรเคลื่อนไปได้ช้า และระหว่างปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2568 จะมีรถที่เป็นระบบช่วยขับขี่กึ่งอิสระที่สามารถสื่อสารระหว่างคันได้.