คอไซไฟอวกาศทุกคนต้องมารวมกันทางนี้ เพราะครั้งนี้เราจะพาคุณมารู้จักแฟนทอมกาแล็กซี (Phantom Galaxy) หรือเอ็นจีซี 628 (NGC 628) หรือเมสซิเยร์ 74 (Messier 74) เป็นกาแล็กซีรูปทรงก้นหอยขนาดใหญ่ อยู่บริเวณกลุ่มดาวปลา ห่างจากโลกออกไปประมาณ 32 ล้านปีแสง ถูกถ่ายภาพโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Soace Telescope) ซึ่งมันจะออกมาเป็นอย่างไร ตามมาดูกันเลย
สรุปข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Phantom Galaxy ได้ดังนี้
- ด้วยความสว่างที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้กาแล็กซีนี้ค่อนข้างท้าทายนักดาราศาสตร์ในการสังเกตการณ์ เป็นหนึ่งในวัตถุท้องฟ้าในอุดมคติที่นักดาราศาสตร์ต้องการศึกษาเกี่ยวกับแขนของกาแล็กซีและความหนาแน่นของเกลียวแขน โดยคาดว่าในกาแล็กซีแห่งนี้มีดาวฤกษ์อยู่ที่ 1 แสนล้านดวง
- ซึ่งรายละเอียดของภาพชี้ให้เห็นว่ากาแล็กซีนี้เป็นกาแล็กซีรูปทรงก้นหอยแบบสมบูรณ์ จนเหมือนกับว่าเป็นรูหนอน (Wormhole) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ณ ใจกลางของมันมีหลุมดำมวลปานกลางอยู่
- ก่อนหน้านี้กว่าเกือบทศวรรษ นักวิทยาศาสตร์ได้ถ่ายภาพกาแล็กซีดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) หรือกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวซ์ (WISE หรือ Wide-field Infrared Survey Explorer)
- “ฉันทำเรื่องนี้มากว่า 10 ปี ข้อมูลจากเวบบ์นั้นใหม่ แตกต่าง และน่าตื่นเต้น แน่นอนว่าฉันจะต้องสร้างอะไรบางอย่างจากมัน” – จูดี้ ชมิดท์ (Judy Schmidt) นักวิทยาศาสตร์หน่วยประมวลผลภาพอวกาศสำหรับมือสมัครเล่นกล่าว
- โดยเหตุผลที่ทำให้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์แตกต่างจากข้อมูลอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ก็คือเครื่องมือเอ็มไออาร์ไอ (MIRI) หรือเครื่องมือรังสีอินฟราเรดช่วงกลาง (Mid-infrared instrument) พร้อมด้วยพลังของกระจกหกเหลี่ยม 18 ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ และตำแหน่งประจำการของกล้อง
- ทั้งนี้ ภาพถ่ายดังกล่าวจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เป็นสาธารณะข้อมูล นักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ รวมถึงบุคคลทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
และนี่ก็คือ Phantom Galaxy ที่เราอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบถูกใจคออวกาศทุกคน และหากมีเรื่องราวด้านอวกาศที่น่าสนใจเช่นนี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที