สินเชื่อต่อเติม ซ่อมแซม ตกแต่งบ้านหรือซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้าน เป็นบริการเงินกู้อีกรูปแบบหนึ่งที่ธนาคารส่วนใหญ่มีไว้บริการลูกค้า นอกจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หรือเรียกโดยรวมว่าสินเชื่ออเนกประสงค์ โดยมีบ้านที่ดินประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ คอนโดฯ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ประเภทของสินเชื่อมี 2 รูปแบบ คือ สินเชื่อแบบวงเงินกู้ระยะยาวและ สินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) แต่ละธนาคารจะมีเชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่มีวัตถุประสงค์ในการปล่อยกู้เดียวกัน คือ ให้กู้เพื่อตกแต่ง ต่อเติม ซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในบ้าน หลักการและเงื่อนไขการกู้โดยทั่วไปของสินเชื่อแบบวงเงินกู้ระยะยาวและสินเชื่อแบบ วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี จะคล้ายกับการกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยผู้กู้จะต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง หรือที่กำลังผ่อนชำระกับสถาบันการเงินอยู่ แล้วนำบ้านนั้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ส่วนที่แตกต่างคือการคิดดอกเบี้ย วงเงินกู้ ระยะเวลากู้ ดังนี้ สินเชื่อแบบวงเงินกู้ระยะยาว จะเหมือนกับการกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่มีระยะเวลาการกู้สั้นกว่า ส่วนใหญ่กำหนดระยะเวลาประมาณ 5-15 ปี (ระยะเวลากู้ขึ้นอยู่กับประเภทของหลักประกันด้วย) ส่วนวงเงินกู้ กรณีลูกค้าใหม่หรือรีไฟแนนซ์ (ที่กู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วย) ธนาคารจะให้วงเงินกู้เพิ่มจากวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประมาณ 5-50% กรณีลูกหนี้เดิมของธนาคารที่ผ่อนชำระเงินกู้กับธนาคารไป 2-3 ปีขึ้นไป (แล้วแต่ธนาคารกำหนด) สามารถขอกู้เพิ่มได้อีก 10-25% ของวงเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติ หรือให้เท่ากับวงเงินที่ผ่อนชำระไปแล้ว แต่ธนาคารส่วนใหญ่จะกำหนดวงเงินกู้ที่ขอกู้เพิ่มว่าเมื่อรวมกับยอดหนี้เดิม แล้วต้องไม่เกิน 80-100% ของราคาประเมิน การคิดอัตราดอกเบี้ย ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยบวกเงินต้นแล้วกำหนดให้ลูกค้าผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน เท่ากันทุกเดือน โดยจะมีทั้งแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1-5 ปี ในระยะแรก หลังจากนั้นก็จะคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอิงกับ MLR (อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ของธนาคาร หรือ MLR บวก-ลบ แต่การกู้แบบนี้จะมี ข้อจำกัดคือ ธนาคารส่วนใหญ่จะกำหนดวัตถุประสงค์ในการกู้ เช่น เฉพาะเพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่ง ต่อเติม หรือซ่อมแซมบ้าน เท่านั้น แต่มี ข้อดี คือ อัตราดอกเบี้ยจะถูกกว่าสินเชื่อแบบวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) และระยะเวลาในการก่อนชำระเงินกู้นานกว่า ทำให้ภาระในการชำระเงินงวด/เดือนของผู้กู้ไม่หนักจนเกินไป สินเชื่อแบบวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) จะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนส่วนตัว ส่วนใหญ่ธนาคารจะไม่กำหนดวัตถุประสงค์ในการกู้ ไม่จำกัดเฉพาะเจาะจงว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายอะไร และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น ซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในชีวิตประจำ ซื้อรถยนต์ เครื่องตกแต่งบ้าน เพื่อการท่องเที่ยว หรือ เพื่อการลงทุนต่างๆ เป็นต้น วงเงินให้กู้ กรณีขอกู้เฉพาะวงเงิน O/Dวงเงินกู้จะอยู่ที่ประมาณ 5-50% ของราคาประเมินหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน กรณีที่ผู้กู้มีบัญชีเงินกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยกับธนาคารอยู่แล้วและต้อง การกู้วงเงิน O/D ธนาคารจะกำหนดวงเงินกู้เมื่อรวมกับวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยแล้วต้องไม่ เกิน 90-120% ของราคาประเมินหลักประกัน โดยวงเงินที่ได้จะขึ้นอยู่กับประเภทของหลักประกันที่ผู้กู้นำมาเป็นค้ำ ประกันด้วย กรณีไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงินกู้จะต่ำกว่าเพราะอนุมัติวงเงินมากหรือ น้อยขึ้นอยู่กับรายได้ และความสามารถในการผ่อนชำระเงินกู้ของผู้กู้ ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่จะกำหนดวงเงินขั้นต่ำและวงเงินสูงสุดเฉลี่ยแล้วไม่เกิน 6-10 ของรายได้/เดือน การคิดอัตราดอกเบี้ยธนาคารส่วนใหญ่จะคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอิงกับ MLR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี) หรือ MOR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชี) บางธนาคารอาจจะคิด MLR,MOR บวก หรือ ลบ อีก 1% หรือ 2 % (แต่ละธนาคารแตกต่างกัน) โดยธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเฉพาะจากยอดเงินที่มีการเบิกใช้จริงเท่านั้น ข้อจำกัด ของการกู้รูปแบบนี้ คือ ธนาคารส่วนใหญ่จะพิจารณาอนุมัติเงินกู้เพิ่มเติมจากวงเงินสินเชื่อปกติ ก็ต่อเมื่อผู้กู้มีประวัติการผ่อนชำระที่ดีมาระยะหนึ่ง และวงเงินกู้ที่ได้ก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการผ่อนชำระเงินงวดของผู้กู้ ด้วย ส่วนข้อดี คือ บางครั้งผู้กู้ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน โดยธนาคารจะพิจารณาจากรายได้เป็นหลัก และกำหนดวงเงินกู้ขั้นต่ำและสูงสุด ส่วนใหญ่ไม่เกิน 6-10 เท่าของรายได้/เดือน ทั้งนี้รายละเอียดเงื่อนไขการขอกู้ “สินเชื่ออเนกประสงค์” ทั้งสองรูปแบบข้างต้นเป็นเพียงภาพ รวมที่ธนาคารส่วนใหญ่ใช้พิจารณาอนุมัติ ส่วนการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้แบบไหนขึ้นอยู่กับผู้ซื้อบ้านที่จะต้องพิจารณา ให้ตรงกับความต้องการของตนเองมากที่สุด