ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานได้พิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์การประมูลใบอนุญาต 3 จี รวมทั้งเรื่องผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับการประมูล ซึ่ง โดยได้เชิญคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เข้าชี้แจงต่อ กมธ. นายสมเกียรติ กล่าวว่า การประมูลราคาถูกไม่เกี่ยวกับการลดค่าบริการ 3 จี แก่ผู้บริโภค เพราะเป็นส่วนของต้นทุนไม่เกี่ยวกับกำไร และการประมูลคลื่นความถี่ในราคาถูกทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย ขณะที่ตัวเลขเดิมจากระบบสัมปทานผู้ประกอบการอย่างเอไอเอส ได้กำไรปีละ 2.2 หมื่นล้านบาท และดีแทคกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ กสทช.กำหนดราคาประมูลตั้งต้นไว้ต่ำ 4.5 พันล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการได้รายละ 3 สล๊อต หรือ 13,500 ล้านบาท คิดต่อปีประมาณ 900 ล้านบาทเท่านั้น จึงทำให้รัฐเสียประโยชน์อย่างมากและเมื่อเทียบกับการประมูล 17 ประเทศ ที่มีแจกใบอนุญาต 19 ใบ โดยการศึกษาวิธีการทางสถิติแล้ว ตัวเลขราคาประเมิน 6,440 ล้านบาท แต่กสทช.เอาราคาขั้นต้น 4,500 ล้านบาท ทำให้รัฐเสียหาย 17,000 ล้านบาท ส่วนการกำหนดค่าประมูลต่ำทำให้รายย่อยเข้าร่วมนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะมีค่าต้นทุนโครงข่ายสูง จึงเป็นไปไม่ได้จะมีรายย่อยมาร่วมประมูล อย่างไรก็ตามสิ่งที่ กสทช.ให้ความสนใจไม่ใช่รายย่อยแต่ควรให้ความสนใจผู้ประกอบการรายใหม่ทีมีเงินทุนเข้าร่วมแข่งขันมากขึ้น ด้านพ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการประมูลนั้น ประชาชนต้องได้ประโยชน์จากบริการ 3จี ส่วนการหารายได้เข้ารัฐเป็นเรื่องรองลงมา ซึ่งกสทช.เข้าใจดีว่า ความเจ็บปวดต้องเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ แต่ยืนยันว่า การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส ด้วยใจบริสุทธิ์ และน้อมรับในการตรวจสอบ รวมทั้งพร้อมเข้าสู่กระบวนยุติธรรม และยืนยันว่าไม่เคยแสวงหาประโยชน์จากการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งในวันนี้ได้ส่งเอกสารการประมูลทุกชั้นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบแล้ว ขณะที่นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกสทช. กล่าวถึงการนำผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอ้างอิง โดยเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า กสทช.ทำให้รัฐเสียหายกว่า 17,000 ล้านบาท โดยกำหนดราคาตั้งต้น 6,440 ล้านบาท แต่ในส่วนท้ายของผลการศึกษาระบุชัดเจนว่า ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชน โดยให้คิดราคาตั้งต้นไม่เกินร้อยละ 67% หรือไม่เกิน 4,314 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 15 เม็กกะเฮิร์ต และเมื่อดูจากราคาที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กำหนดไว้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมากำหนดราคาประมูลกว่า 4,300 ล้านบาท ขณะที่ กสทช. จัดประมูลทั้งหมด 45 เม็กกะเฮิร์ต ได้รายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีผู้ประกอบการร่วมประมูลกี่ราย พร้อมย้ำว่า หากกำหนดราคาตั้งต้นสูงเกินไปจะเกิดความเสี่ยงว่า สภาพการแข่งขันจะลดลงและการใช้เงินลงทุนมากของผู้ประกอบการก็จะผลักภาระให้ประชาชนที่เสียค่าบริการสูงขึ้น ส่วนในแง่เทคนิคราคาคลื่น 3จี ลดลง เพราะมีขณะนี้มีคลื่น 4จีแล้ว [code] ที่มา : http://bit.ly/TeYbMR [/code]