ก่อนหน้านี้โรคลมบ้าหมูเป็นโรคร้ายอีกหนึ่งโรคที่คุกคามสุขภาพของชาวโลกไม่น้อย และมันก็เป็นโรคที่รักษายากซะด้วย แต่ตอนนี้เรามีข่าวดีจะมาแจ้งให้คุณได้ทราบว่า ล่าสุดที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ประสบความสำเร็จในการสร้าง “หุ่นยนต์นุ่ม” เจาะสมองขนาดจิ๋ว รักษาโรคลมบ้าหมูแล้ว ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามอ่านกันเลย
สรุปข้อมูลและรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
- ล่าสุดที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้สร้างหุ่นยนต์แบบนุ่ม (Soft Robotics) สำหรับใช้ทางการแพทย์ตัวใหม่เพื่อการรักษาโรคลมบ้าหมูและโรคทางสมองที่ต้องใช้ไฟฟ้าช่วยบำบัด โดยมีจุดเด่นคือใช้พื้นที่น้อย และเป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กซึ่งสามารถเจาะรูกะโหลกศีรษะขนาดเล็ก แต่มีประสิทธิภาพสูงสามารถขยายพื้นที่กระตุ้นไฟฟ้าได้เป็น 2 เท่า ของขนาดรูที่เจาะลงไป
-
ปกติการรักษาโรคลมบ้าหมูหรือโรคทางระบบประสาทและสมองที่มีอาการร้ายแรงบางโรค แพทย์จะใช้วิธีการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าโดยตรงไปที่สมองผ่านการใช้อุปกรณ์ขั้วไฟฟ้า ซึ่งต้องผ่ากะโหลกเปิดออกเพื่อทำการรักษา แต่มีผลข้างเขียงเป็นความเจ็บปวดและโรคแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เพราะต้องผ่าตัดเป็นบริเวณกว้างให้เพียงพอต่ออุปกรณ์
-
อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ตัวใหม่จะเปลี่ยนการผ่าตัดใหญ่ให้เป็นการเจาะกะโหลกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร จากนั้นจะส่งอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายท่อสอดผ่านรูเข้าไปในช่องว่าง 1 มม. ระหว่างสมองกับกะโหลกศีรษะ โดยภายในอุปกรณ์จะมีการสงแผ่นกระตุ้นไฟฟ้าเข้าไปวางในลักษณะแปะบนสมองด้วยการคลี่แผ่นขั้วไฟฟ้าที่เราเห็นเป็นแฉกบางขยายออกมาเป็นพื้นที่วงกลมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร หรือ 2 เท่าของขนาดรูแผล
-
พื้นที่ขั้วไฟฟ้าที่แปะนี้มีศักยภาพในการรักษาอาการลมบ้าหมู และยังสามารถพับเก็บเพื่อดึงออกมาจากรูที่เจาะไว้ ซึ่งคาดว่าจะลดอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้เป็นอย่างดี
-
โดยผลงานดังกล่าวเป็นของ École Polytechnique Fédérale de Lausanne: EPFL ซึ่งผ่านการทดสอบในหมูขนาดเล็ก พร้อมทั้งแยกตัวมาตั้งบริษัท นูโรซอฟต์ ไบโออิเล็กทรอนิกส์ (Neurosoft Bioelectronics) เพื่อพัฒนาให้รูเปิดกะโหลกมีขนาดเล็กลงแต่ได้พื้นที่กระตุ้นไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อทดสอบการใช้งานกับสมองมนุษย์ต่อไป
และนี่ก็คืออีกหนึ่งข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในโลกเทคโนโลยีที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน และหากมีเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจเช่นนี้อีก เราจะรีบมาอัพเดทให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใครทันที