ใกล้จะสิ้นปี 2020 แล้ว หลายคนคงอยากอาศัยการท่องเที่ยวช่วงสิ้นปีเพื่อเยียวยาหัวใจจากเรื่องร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้และหวังว่าจะได้เริ่มปีใหม่ด้วยดี แต่เราจะไปเที่ยวไหนดีถ้าเกิดว่าเราเบื่อการท่องเที่ยวแบบเดิม ๆ เช็คอินดอยภาคเหนือกับอากาศหนาว ๆ หรือไปทะเลแล้วถ่ายรูปพร้อมแคปชั่นคลาสสิกก็คงจะซ้ำไปหน่อย งั้นเรามาลองหาวิธีท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ทั้งสนุกและอนุรักษ์โลกของเราไปด้วยกันเถอะ
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Ecotourism) กระแส Backpacker ที่ไม่ได้เพิ่งเกิด
บนโลกใบนี้มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามมากมาย ซึ่งไม่ใช่แค่ต้นไม้ใบหญ้าหรือน้ำตกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสวยงามในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นอีกด้วย มีการให้คำนิยามไว้ว่าการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นั้นเป็นการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ส่งผลให้เกิดการรักษาธรรมชาติ สร้างความตระหนักและการเรียนรู้ ทำให้กลายเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบที่ยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มีหลายแบบด้วยกัน เช่น การใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนพื้นเมือง เดินป่าดูนก ดำน้ำดูปะการัง เป็นต้น ในประเทศไทยของเรามีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอยู่ทุกภาคและได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติอีกด้วย ซึ่งการท่องเที่ยวแบบนี้นับวันก็ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะเราเข้าถึงข้อมูลและสถานที่ต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก ประกอบกับกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นทุกที การท่องเที่ยวที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและใกล้ชิดธรรมชาติไปด้วยจึงต้องมีเช่นกัน
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Ecotourism) กับสิ่งที่ควรระวัง
ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติและสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ก็อาจจะไม่ได้อนุรักษ์อย่างที่เราคิดถ้าเราไม่ได้ใส่ใจผลกระทบจากมันดีพอ ข้อแรกคือ การไปเที่ยวเชิงอนุรักษ์คือการเอาตัวเราไปอยู่ในพื้นที่ของธรรมชาติ ฉะนั้น การใช้ชีวิตของเรามีความเสี่ยงต่อธรรมชาติอย่างแน่นอน เช่น ขยะที่เราสร้างขึ้น สอง ระหว่างการเดินทางเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้พลังงาน ซึ่งก็เป็นผลกระทบอย่างหนึ่งต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ควันจากยานพาหณะ และข้อสุดท้าย เราอาจจะกำลังสร้างผลกระทบขนาดใหญ่โดยไม่รู้ตัวจากการเพิ่มความนิยมให้สถานที่ท่องเที่ยว เพราะอาจมีนายทุนเห็นโอกาสเข้ามาเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เช่น สร้างถนน สร้างโรงแรม โดยที่คนในชุมชนไม่ต้องการ จากการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ที่ต้องอาศัยธรรมชาติอาจกลายเป็นการท่องเที่ยวกระแสหลักที่คนในชุมชนไม่ได้อะไรเลย ฉะนั้น เราจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากเราอยู่เสมอ ไม่ทิ้งขยะในพื้นที่ ไม่เก็บอะไรออกไปนอกจากภาพถ่าย และเคารพประเพณีวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น สร้างค่านิยมการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความต้องการของคนท้องถิ่นเป็นสำคัญ ถ้าเราคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้นอกจากจะได้รับไมตรีที่ดีแล้วเรายังมีโอกาสได้เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนมากขึ้นด้วย
“Staycation” เทรนด์การท่องเที่ยวของคนรุ่นใหม่ที่อาจจะมาแทน
เดี๋ยวนี้มีการท่องเที่ยวแบบที่เราไม่ต้องออกไปไหนไกลก็เที่ยวได้นั่นคือ Staycation ซึ่งหมายถึงการเที่ยวในละแวกใกล้บ้านหรือในเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่ การท่องเที่ยวแบบนี้เหมาะกับวิถีของคนรุ่นใหม่มากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการลองเปลี่ยนบรรยากาศไปนอนโรงแรมหรือโฮสเทลที่ราคาไม่สูงจนเกินไปดูบ้าง เดินดูพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ไปจนถึงย่านชุมชนประวัติศาสต์ที่ใกล้บ้านเราเอง ยิ่งเดี๋ยวนี้มีแหล่งถ่ายรูปให้เช็คอินเกิดขึ้นใหม่มากมาย แค่มีโทรศัพท์ติดตัวไว้เราก็เที่ยวได้แล้ว ลองทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวในเมืองของตัวเองอาจทำให้เรามองเห็นมุมน่าสนใจที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนก็ได้นะ ข้อดีของ Staycation คือเราสามารถพักผ่อนได้เต็มที่โดยไม่เสียเวลากับการเดินทางมากนัก ทำให้ลดการใช้พลังงานจากรถโดยสารไปในตัว และเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน แค่เปลี่ยนจากท้องถิ่นในชนบทเป็นชุมชนในเมืองนั่นเอง ในอนาคตเราอาจเห็นเทรนด์การท่องเที่ยวแบบนี้มากขึ้นควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป
Reference
กิดานัล กังแฮ, (2559), 4 เรื่องต้องรู้ ก่อนเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ, สืบค้นเมื่อ 10 พ.ย. 2563, จาก สสส: https://www.thaihealth.or.th/Content/30564-4%20เรื่องต้องรู้%20ก่อนเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯ.html
p class=”hero__title “>Ecotourism: Definition, Meaning And Examples, (2020), Retrived 11 November, 2020, from https://youmatter.world/en/definition/ecotourism/