ทันทีที่ รมว.ไอซีทีประกาศเอาผิดเว็บไซต์ที่โพสต์ข้อความดูหมิ่นนายกฯ ปู “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พร้อมระบุว่าจะสั่งระงับเว็บไซต์ทันที แถมจะลงโทษปรับ 2 หมื่นบาท จำคุกอีก 1 ปี ชาวออนไลน์หลายคนตื่นตัวพร้อมตั้งคำถามว่าแล้วจะโพสต์อย่างไรให้ไม่ให้เข้าข่ายหมิ่น?
รวมถึงคำถามคาใจว่าถ้าเป็นการโพสต์บนเฟซบุ๊กแล้วไอซีทีไทยจะระงับเฟซบุ๊กได้จริงหรือ? คำถามเหล่านี้ได้รับคำตอบจาก “ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ” ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ซึ่งฟันธงว่าคำขู่ของ รมว.ไอซีทีเป็นเรื่องที่ไม่ถูกหลักการ ขณะที่ชาวออนไลน์จะต้องระวังเรื่องการส่งต่อเรื่องราวที่เข้าข่ายหมิ่นให้ดี ทั้งภาพตัดต่อและการรีทวีต (retweet) ข้อความที่ไม่เป็นความจริง
1. วิจารณ์ผลงานไม่หมิ่น นายกรัฐมนตรีนั้นมีสถานะเหมือนบุคคลทั่วไป การวิจารณ์ผลงานหรือการดำเนินงานต่างๆ ที่พูดถึงประโยชน์ประเทศชาตินั้นสามารถทำได้ แต่การใส่ความและการว่าร้าย วิจารณ์นิสัยว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้โดยที่ไม่เป็นจริง จะถือว่าหมิ่นประมาท สรุปคือ ความผิดหมิ่นประมาทจะเกิดขึ้นเมื่อมีการพูดถึงพาดพิงให้เสียหาย หรือมีการใส่ความที่ไม่เป็นความจริงให้เสียหายเท่านั้น แต่หากเป็นคดีหมิ่นประมาทขึ้นมาจริง ไอซีทีก็จะไม่มีอำนาจสั่งระงับเว็บไซต์เพราะคดีหมิ่นประมาทไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งตามหลักการแล้ว กระทรวงไอซีทีจะมีอำนาจปิดกั้นเว็บไซต์ได้เมื่อพบความผิดหมิ่นสถาบันฯเท่านั้น เท่ากับว่าคำพูดของ รมว.ไอซีที “ยังไม่ตรงหลักวิชาการ” ดังนั้น ถ้าเป็นการวิจารณ์ของสื่อมวลชน กฎหมายมาตรา 329 จะคุ้มครองเพราะเป็นข้อยกเว้นของสื่ออยู่แล้วที่ต้องติชมทั่วไปและนำเสนอข่าวเชิงวิชาการ ดังนั้นถ้ามีการวิจารณ์ก็จะต้องมีการพิจารณาว่าเป็นสื่อมวลชนหรือไม่
2. ต้องระวังภาพตัดต่อ ในขณะที่คดีหมิ่นประมาททั่วไปไม่เข้าข่าย แต่ “การตัดต่อภาพ” จะเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์โดยตรง ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการตัดต่อภาพจากผิดเป็นไม่ผิด หรือไม่ผิดเป็นผิด ทุกรูปแบบมีความผิด ความผิดหมิ่นประมาทที่มีผลทาง พ.ร.บ.ความผิดคอมพิวเตอร์ คือ ความผิดที่เข้าข่ายมาตรา 14 (1) เท่านั้น โดย มาตรา 14 (1) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มีสาระสำคัญว่าการนำข้อมูลอันเป็นเท็จ คือข้อมูลที่เป็นเรื่องไม่จริงทั้งหมด หรือไม่จริงเพียงบางส่วนเข้าสู่คอมพิวเตอร์ แล้วทำให้บุคคลอื่นเกิดความเสียหาย ล้วนเป็นความผิด ซึ่งการตัดต่อรูปจะเข้าข่ายความผิดนี้โดยตรง และการเผยแพร่ภาพให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายหรืออับอาย จะมีความผิดตาม ม.16 ขณะที่การโพสต์ข้อความตามกะทู้ต่างๆที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เป็นเท็จ ก็จะผิดตาม ม.14 นี้ด้วย
3. จะ Share หรือ Retweet ต้องให้มั่นใจ จุดที่ประชาชนต้องระวัง คือ การ retweet หรือการแชร์ข้อความและภาพต่อ เพราะหากไม่มั่นใจว่าข้อความหรือภาพนั้นเป็นความจริงก็อาจมีความผิดฐานเผยแพร่ โทษของผู้ทำซ้ำและเผยแพร่จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาเจตนาของผู้กระทำเป็นหลัก เพราะกรณีที่เป็นความผิดอาญานั้นต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา หากเป็นการเก็บข้อมูลปกติไว้ในคอมพิวเตอร์ไม่จัดอยู่ในกรณีทำซ้ำ นอกจากนี้ ในกฎหมายอาญาก็ไม่มีบทบัญญัติให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการปิดบล็อกเว็บไซต์ แต่ต้องให้ไอซีทีส่งเรื่องให้ศาลเป็นผู้สั่งการเท่านั้น
4. โพสต์วิพากษ์ผ่าน Facebook ปลอดภัย! สิ่งที่ชาวออนไลน์ควรรู้ คือ เฟซบุ๊กยึดกฎหมายสหรัฐอเมริกาเป็นหลักปฏิบัติ เฟซบุ๊กจึงเลือกระงับเฉพาะเพจที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการก่อการร้ายเท่านั้น ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กยังไม่ดำเนินการปิดเพจที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์แม้จะมีคำสั่งจากศาลไทย เนื่องจากคำสั่งจากศาลไทยจะถือเป็นเอกสารขอความร่วมมือที่ไม่มีผลลงโทษใดๆ ในกรณีของคำวิจารณ์นายกฯ ปูบนเฟซบุ๊ก หาก รมว.ไอซีทีพบข้อความหมิ่นประมาทบนเฟซบุ๊กก็จะไม่มีอำนาจสั่งระงับเพจบนเฟซบุ๊กใดๆ สิ่งที่ทำได้ คือ การบล็อกไม่ให้เปิดชมเพจจากประเทศไทย ซึ่งขั้นตอนที่ถูกต้องคือต้องรอให้ศาลตัดสินมูลฟ้องและออกคำสั่งศาลตามมา แปลว่าฝ่ายบริหารจะไม่มีอำนาจในการตัดสินใดๆ คำพูดหมิ่นประมาทที่ควรรู้เพิ่มเติม
- คำว่าผีเปรต ผีปอบ ไม่ใช่การใส่ความผู้อื่นเพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (เทียบเคียง ฎ.200/2511)
- คำว่า ชาติหมา ไอ้ควาย ไอ้สัตว์ เป็นคำด่า ไม่ใช่หมิ่นประมาท (เทียบเคียง ฎ.481/2506) โดยหากคำด่า มีคำหมิ่นประมาทรวมอยู่ด้วยจะถือว่ามีความผิด
- คำว่า กะหรี่ หรือ บ้ากาม เป็นคำพูดบรรยายความประพฤติเสื่อมเสียในทางประเวณี มีความผิดหมิ่นประมาท
- ถ้าจำเลยพูดว่า โจทก์เป็นคนชาติหมา เลวยิ่งกว่าหมา จะไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท เพราะไม่ได้ทำให้เข้าใจว่าเลวอย่างไร (เทียบเคียง ฎ.481/2506)
- คำพูดหมิ่นประมาทอาจจะเป็นประโยคคำถามก็ได้ ถ้าคำถามนั้นทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด และทำให้บุคคลนั้นเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือเสียหายไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง
ที่มา : manager