ไม่รู้ว่าเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ชาวไอทีเมามันส์รู้สึกอย่างไรกับแนวคิดทางด้านการศึกษาที่อยากให้เด็กตั้งใจเรียนโดยการบีบบังคับจากค่าใช้จ่ายแบบนี้บ้าง เพราะว่าหลายคนอาจจะส่งผลกระทบและอาจจะทำให้เด็กที่ตั้งใจเรียนจริงๆไม่ได้เข้าศึกษาต่อได้ ชาวไอทีเมาเมามันส์คิดเห็นอย่างไรช่วยกันแสดงความคิดเห็นกันครับจากแนวคิดนี้ที่ว่า..
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดทำข้อเสนอในการแก้ปัญหานโยบายการศึกษา ปัญหาโครงสร้างการศึกษา ระบบจัดการศึกษา รวมถึงปัญหาคุณภาพผู้เรียน โดยเสนอให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึงชั้น ป.6 โดยแยกสายสามัญ และสายอาชีวะตั้งแต่ชั้น ม.1 และเสนอให้ตั้งสถาบันครูศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตครูที่มีศักยภาพสูง พร้อมทั้งรับประกันเงินเดือนครูต้องไม่ต่ำกว่าแพทย์ โดยขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษา 15 ฉบับ โดยไม่ต้องผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ข้อเสนอทั้งหมด คิดมาตั้งแต่ปี 2552 เพราะเห็นว่าการศึกษาไทยเป็นปัญหา และด้อยคุณภาพ กระทั่งพิสูจน์ได้แล้วว่าทุกวันนี้เราสู้ใครไม่ได้เลย แม้จะลงทุนด้านการศึกษามากที่สุดประเทศหนึ่ง ก็ยังเป็นรองประเทศอื่น โดยเฉพาะในประเทศอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับท้ายๆ ส่วนข้อเสนอให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึงชั้น ป.6 แยกสายสามัญกับสายอาชีวะ ตั้งแต่ชั้น ม.1 เพราะข้อมูลการศึกษาด้านจิตวิทยาพบว่าเด็กจะรับรู้ และเรียนรู้ได้มากที่สุดในชีวิต คือช่วงอายุ 1-6 ขวบ ดังนั้น หากอยากให้เด็กเรียนรู้ทักษะอะไร ก็ต้องใส่เข้าไปในช่วงนี้ แต่ที่ผ่านมาไม่ใช่ เราเริ่มการศึกษาภาคบังคับตอน 7 ขวบ ซึ่งไม่ทันการเรียนรู้ จึงคิดใหม่ว่าแทนที่จะให้เด็กนั่งเล่นอยู่บ้าน ก็ให้เข้าเรียนตั้งแต่ 3 ขวบ ส่วนเด็กอายุ 1-2 ขวบ ผู้ปกครองอาจส่งเข้าศูนย์ดูแลเด็กซึ่งท้องถิ่นจัดขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดทำข้อเสนอในการแก้ปัญหานโยบายการศึกษา ปัญหาโครงสร้างการศึกษาระบบจัดหารศึกษา รวมถึงปัญหาคุณภาพผู้เรียน โดยขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 ในการแก้กฎหมายการศึกษา 15 ฉบับ โดยไม่ต้องผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาทิ ให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ก่อนอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ให้แยกสายสามัญและสายอาชีวศึกษา ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เสนอตั้งสถาบันครูศึกษาเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตครูที่มีศักยภาพสูง พร้อมทั้งการันตีเงินเดือนครูต้องไม่ต่ำกว่าแพทย์ ให้เด็กที่จบ ป.6 แต่ได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียน ม.1 จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด หากไม่มีก็จะต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อให้เด็กตั้งใจเรียน ทำคะแนนให้ดี ว่า ได้เห็นข้อเสนอดังกล่าวผ่านทางสื่อต่างๆ ซึ่งอยากคุยรายละเอียดกับทางผู้ตรวจการแผ่นดิน
“ที่ยังคงให้การศึกษาภาคบังคับอยู่แค่ 9 ปี เพราะไม่เห็นประโยชน์ที่จะเพิ่มเป็น 12 ปี หากเพิ่มถึง ม.6 รัฐจะต้องใส่งบประมาณเข้าไปมากขึ้น ขณะที่คุณภาพของการศึกษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนปีของการศึกษาภาคบังคับ แต่ขึ้นอยู่กับเราจะสอนอะไรต่างหาก ส่วนที่เสนอให้การศึกษาภาคบังคับอยู่แค่ ป.6 จะผลักเด็กออกจากระบบการศึกษาหรือไม่ เพราะผู้ปกครองที่ฐานะไม่ดี อาจให้ลูกออกไปช่วยทำงาน เพราะกฎหมายไม่บังคับนั้น ไม่คิดเช่นนั้น เมื่อเด็กเรียนถึง ป.6 จะต้องเรียนต่อเนื่อง ซึ่งก็อยู่ที่ผู้ปกครองจะเลือก และที่อยากให้แยกสายสามัญกับสายอาชีวะตั้งแต่ ม.1 เพื่อให้เตรียมตัวว่าจะเลือกเรียนสายไหน แต่ยังคงเรียนวิชาการควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เรียนสายสามัญไปเรื่อยๆ สุดท้ายเข้ามหาวิทยาลัย และจบมาแล้วตกงานเป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม ยังเปิดโอกาสให้คนที่เลือกเรียนสายอาชีพ หากต้องการเรียนแพทย์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ ก็สามารถสอบเข้าเรียนได้เช่นกัน” นายศรีราชากล่าว
ทั้งนี้ การเสนอเปลี่ยนการศึกษาภาคบังคับจาก ป.1-ม.3 เป็นก่อนอนุบาลหรือปฐมวัย ถึง ป.6 นั้น ขณะนี้ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ) มาตรา 54 ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันการศึกษาภาคบังคับถึงชั้น ม.3 ยังกลัวเด็กจะหลุดออกนอกระบบ หากบังคับแค่ ป.6 มีโอกาสที่เด็กจะออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น ส่วนที่ให้เสนอให้เด็กที่จบ ป.6 แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียน ม.1 ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเองนั้น ต้องไปถามสังคมเองว่าเห็นด้วยหรือไม่
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า กำหนดการศึกษาภาคบังคับถึง ป.6 ควรจะบังคับเรียนถึง ม.3 เช่นเดิม แต่ถ้าให้ความสำคัญกับปฐมวัยควรขยายภาคบังคับเรียนเพิ่มในระดับอนุบาล 3 ปี รวมถึงแนวคิดให้เด็กจบ ป.6 แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 ต้องจ่ายค่าเทอมเองนั้น จะกระทบต่อเด็กยากจน เพราะส่วนใหญ่จะเรียนไม่ดี เนื่องจากผลการเรียนมีตัวแปรหลายเรื่อง ทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม หากเอาตัวเลขผลการเรียนมาตัดสิน โดยไม่มีการไปดูแลช่วยเหลือ ให้สวัสดิการก่อน ก็จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น ทั้งยังจะส่งผลให้ตัวเลขเด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้นด้วย
เท่าที่ศึกษาข้อมูลจากแหล่งข่าวยังเป็นแค่แนวคิดแต่ การที่นำเสนอแนวคิดนี้ออกมาค่อนข้างรุนแรงเหมือนกัน คิดเห็นกันอย่างไรครับ ร่วมการแสดงความคิดเห็นของคุณกันครับ..