สวัสดีเพื่อนๆ ชาว ไอทีเมามันส์ ทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความให้คำแนะนำการเอาตัวรอดในช่วงวิกฤติการณ์โควิด 19 เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่โลกเราอยู่ท่ามกลางความสับสนและหวาดกลัว สิ่งที่ตามมาในสภาวะการณ์เช่นนี้ก็คือการสร้างข่าวปลอม พร้อมกับการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ซึ่งเป็นการซ้ำเติมผู้คนที่กำลังย่ำแย่อยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก แล้วเราจะเอาตัวรอดจากอาชญากรรมไซเบอร์ได้อย่างไร วันนี้เรามีคำแนะนำดีๆ มาบอก
นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้ออกมาให้คำแนะนำดังนี้
#1. ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนที่จะให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ
เช่น ชื่อผู้ใช้ (username) รหัสผ่าน (passwords) ข้อมูลบัตรเครดิต และอื่น ๆ องค์กรที่ดำเนินการอย่างโปร่งใสจะไม่ขอข้อมูลดังกล่าวผ่านทางอีเมลและเว็บไซต์
#2. เชื่อถือข้อมูลจากแหล่งที่ตรวจสอบแล้วเท่านั้น
ติดตามข่าวสารจากสื่อมวลชนที่เชื่อถือได้แทนที่จะเชื่อข่าวลือบนทวิตเตอร์ หรือที่ข้อมูลที่แชร์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะข่าวปลอม (Fake news) รวมทั้งไม่แชร์ต่อ องค์กรต่างๆ ต้องจัดทำช่องทางที่จะสื่อสารภายในกับพนักงานอย่างชัดเจน หรือสร้างแหล่งข้อมูลสำหรับพนักงานเพื่อค้นหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ ดังนั้น พนักงานจะต้องตรวจสอบกับหน่วยงานของตนในกรณีฉุกเฉินว่าช่องทางใดที่ใช้เพื่อติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการ
#3. ห้ามให้รายละเอียดบัตรเครดิตธนาคารหรือข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคล
คุณต้องตั้งข้อสงสัยเป็นกรณีพิเศษถ้ามีบุคคลโทรมาสอบถามข้อมูลดังกล่าว ถึงแม้จะอ้างว่าติดต่อมาจากองค์กรที่มีชื่อเสียง เพราะบุคคลนั้นอาจแอบอ้างและใช้กลลวงเพื่อขอข้อมูลส่วนตัวของคุณไปทำความเสียหายได้
#4. อย่าเชื่อข้อเสนอที่อ้างจนดีเกินจริง
ในช่วงที่สินค้าจำเป็นต่างๆ ขาดตลาด ถ้าหากเป็นไปไม่ได้ที่จะหาสินค้า บริการ อาทิ เวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ที่วางจำหน่าย ต้องระมัดระวังบุคคลที่จะมาล่อลวงเสนอขายสินค้าและบริการเหล่านี้ทางออนไลน์ รวมทั้งห้ามโอนเงินล่วงหน้าให้คนที่คุณไม่รู้จัก
#5. ตรวจสอบว่าผู้ส่งอีเมลคือบุคคลตามที่อ้างหรือไม่
เมื่อได้รับอีเมลที่น่าสงสัยให้ตรวจสอบอีเมลแอดเดรสที่ถูกส่งมาว่าใช่อีเมลจากบุคคลหรือองค์กรตามที่ส่งมาหรือไม่ หากไม่แน่ใจให้ติดต่อกลับหาผู้ที่ส่งมาผ่านทางช่องทางติดต่ออื่น เช่น โทรสอบถามบุคคลที่ส่งอีเมลมาถึงคุณให้แน่ใจ
#6. ตรวจสอบลิงก์ในอีเมลก่อนที่คุณจะคลิกลิงก์ทุกครั้ง
เว็บไซต์ปลอมกำลังระบาด ก่อนที่จะคลิกลิงก์ที่ได้รับมาจะต้องทำการตรวจสอบให้แน่ใจ โดยสามารถทำได้จากการเลื่อนเมาส์ไปวางบนลิงก์เพื่อดูว่าลิงก์นั้นจะไปตามที่ระบุไว้จริงหรือไม่
#7. ระมัดระวังเมื่อได้รับอีเมลจากบุคคลที่ไม่รู้จักและใช้ข้อความหลอกกระตุ้นให้เปิดไฟล์ที่แนบมา
ต้องตรวจสอบทุกครั้งว่าอีเมลที่ถูกส่งมานั้นเป็นของผู้ที่รู้จักได้ส่งมาจริง หากคุณมีข้อสงสัยอย่าเปิดดู ดังที่กล่าวไว้ใน ข้อ 2 คุณสามารถตรวจสอบโดยติดต่อสอบถามกลับไปยังผู้ที่ส่งมาหาคุณได้ โดยติดต่อผ่านช่องทางอื่นที่ไม่ใช่อีเมล
และนี่ก็คือ 7 แนวทางการป้องกันภัยอันตรายจากโลกไซเบอร์ในช่วงวิกฤติการณ์โควิด 19 ที่เราอยากจะมาแจ้งให้เพื่อนๆ ได้ทราบในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆ ทุกคน เมื่อได้ทราบแล้วก็อย่าลืมเอาไปบอกต่อเพื่อจะได้ช่วยกันป้องกันภัย เพราะสถานการณ์ตอนนี้มันก็ย่ำแย่อยู่แล้วอย่าปล่อยให้อาชญากรมาซ้ำเติมเลย