นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า มาตรการจัดสินเชื่อบ้านหลังแรกดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 3 ปี ให้การซื้อบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ในโครงการ “บ้านหลังแรก” ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อเดือน พ.ย. 2554 ถึงปัจจุบัน โดยประเมินยอดล่าสุด ณ สิ้นเดือน มี.ค.พบว่า มียอดสินเชื่อที่ทำนิติกรรมไปแล้วประมาณ 3,000 ล้านบาท และยังมียอดสินเชื่อบ้านหลังแรกที่จะได้เพิ่มมาจากงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 26 ซึ่งเปิดขายไปเมื่อกลางเดือน มี.ค. ที่มียอดจองอยู่ที่ 500 ล้านบาท คาดว่าจะได้ยอดทำนิติกรรมเข้ามาเพียงหลักสิบล้านบาทเท่านั้น เมื่อรวมทั้งสองส่วนนี้แล้ว ก็ยังคงเป็นยอดสินเชื่อที่ 3,000 ล้านบาทเศษ ถือว่าค่อนข้างต่ำเนื่องจากโครงการนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังอนุมัติงบไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท
สาเหตุที่ทำให้มียอดสินเชื่อในโครงการนี้เข้ามาน้อย กรรมการผู้จัดการ ธอส. เผยว่า สาเหตุหลัก คืออุปสรรคด้านขั้นตอนการขอสินเชื่อโครงการพิเศษ ทั้งขั้นตอนการประเมินสินทรัพย์เพื่อปล่อยสินเชื่อ ซึ่งต้องเป็นโครงการที่สร้างเสร็จแล้วเท่านั้น จึงจะปล่อยสินเชื่อได้ ซึ่งสินค้าพร้อมโอนที่เข้าเกณฑ์ และมีผู้ยื่นขอใช้สิทธิโครงการเข้ามามีไม่มากนัก นอกจากนี้ ยังเป็นผลกระทบมาจากเรื่องน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมาทำให้กิจกรรมการซื้อขายอสังหาฯ ชะงักไป “จากยอดสินเชื่อดังกล่าว และทิศทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ธอส.ประเมินว่าจนถึงระยะสิ้นสุดการยื่นคำขอสินเชื่อพิเศษนี้ ซึ่งกำหนดไว้ 1 ปีจะครบในเดือน ก.ย. 2555 คงไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท ตามที่ตั้งวงเงินไว้แน่” นายวรวิทย์ กล่าวและว่า เมื่อปล่อยสินเชื่อได้ไม่ครบตามเป้า ก็เป็นไปได้ว่าจะขยายเวลาออกไปอีก เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังกล่าวก่อนหน้านี้ว่า กำลังหารือเรื่องการขยายเกณฑ์สินเชื่อบ้านหลังแรกจากให้สินเชื่อบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทไปสู่ราคาไม่เกิน 2 ล้านหรือ 3 ล้านบาท ให้ได้สิทธิดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 2-3 ปีเช่นเดียวกัน น่าจะทำได้ยากและอาจเกิดความซ้ำซ้อน เพราะตอนแรกที่แยกมาตรการภาษีบ้านหลังแรก และสินเชื่อบ้านหลังแรกออกจากกัน เพราะเชื่อว่าสินเชื่อบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นการช่วยเหลือผู้ที่ยังไม่มีรายได้ถึงระดับที่ต้องเสียภาษี หากขยายเกณฑ์ไปสู่ 2 ล้านบาท หรือ 3 ล้านบาทจริง ผู้บริโภคบางรายจะได้ผลประโยชน์ซ้ำซ้อนจากทั้ง 2 ส่วน คนสนใจกู้ 15% ติดปมราคาต่ำ ด้านผู้ประกอบการระบุว่า โครงการบ้านหลังแรกที่รัฐบาลประกาศออกมามีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมค่อนข้างน้อย โดยนายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการต่างๆ ของแอล.พี.เอ็น ส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมและมีระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งเข้าข่ายจะได้สินเชื่อบ้านหลังแรกอยู่กว่า 50% แต่หลังจากโครงการสินเชื่อพิเศษนี้เปิดออกมา และบริษัทได้สำรวจยอดผู้ที่จะใช้สิทธิมาตรการสินเชื่อบ้านหลังแรก กลับพบว่ามีผู้จะใช้สิทธิเพียง 15-20% เท่านั้น สาเหตุที่มีผู้เข้าร่วมโครงการน้อย เชื่อว่ามาจากการกำหนดให้สินเชื่อว่าเป็นการให้เฉพาะบ้านหลังแรก แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ซื้อ มักไม่ใช่บ้านหลังแรกหลายคนเป็นการซื้อหลังที่ 2 หรือ 3 นอกจากนี้ บางคนแม้จะไม่ได้มีบ้านหลังแรกเป็นของตัวเอง แต่ก็อาจมีชื่อเป็นเจ้าบ้านแทนคนในครอบครัว ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้หมดโอกาสได้รับสิทธิดังกล่าว ด้านนายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า สาเหตุที่สินเชื่อบ้านหลังแรกไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนั้น เกิดจากเพดานราคาบ้านไม่เกิน 1 ล้านบาท ถือว่าต่ำเกินไป เพราะปัจจุบันแทบไม่มีสินค้าบ้านระดับราคาดังกล่าวจำหน่ายอยู่จริง ส่วนใหญ่เป็นราคาเกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปทั้งสิ้น โดยเฉพาะบ้านและคอนโด เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สินค้าที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ ราคาเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 1.5-2.5 ล้านบาท ดังนั้นรัฐ ควรขยายเพดานราคาโครงการบ้านหลังแรกไปอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท หรือ 2 ล้านบาทน่าจะตรงกลุ่มมากกว่า ย้ำหลักคิด “‘ช่วยผู้มีรายได้น้อย” ด้านนายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้มีผู้ขอสินเชื่อบ้านหลังแรกเข้ามาน้อย เป็นเพราะการกำหนดว่าเป็นสินเชื่อเฉพาะบ้านหลังแรก เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ จะมีบ้านหลังเล็กๆ เป็นของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว ประชาชนจากต่างจังหวัดที่มาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ก็มีบ้านอยู่ที่ต่างจังหวัดอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีประชาชนที่เข้าข่ายใช้สิทธิดังกล่าวได้ “แต่การที่มียอดปล่อยสินเชื่อแค่ 3,000 ล้านบาท ก็ไม่ใช่สิ่งที่บอกว่าโครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป้าหมายของโครงการ คือการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น แม้จะมีผู้มีสิทธิเข้าเกณฑ์จำนวนน้อยก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ นอกจากนี้ แม้จะตั้งวงเงินไว้ถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่ตัวเลขดังกล่าวก็เป็นเพียงวงเงิน ไม่ใช่ตัวเลขเป้าหมาย จึงคิดว่าหากต้องการให้เกณฑ์ดังกล่าวช่วยเหลือเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขเกณฑ์”