เวลาพูดถึงบทบาทของโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน เราสามารถมองได้หลากหลายมุม ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความล้ำสมัยของเทคโนโลยี ความสำคัญทางเศรษฐกิจ หรือผลกระทบต่อสังคม แต่ในตอนนี้ผมอยากให้มองในมุมของความเป็น “สื่อ” (mass media) ที่ใหม่ที่สุด มีผลกระทบที่สุด สามารถสร้าง “โอกาส” ใหม่ ๆ ทางธุรกิจมากที่สุด ถ้าหากเรามองย้อนไปถึงเรื่องวิวัฒนา การ โทรศัพท์มือถือนับได้ว่าเป็นสื่อในยุคที่เจ็ด (http://en.wikipedia.org/wiki/Mass_media) นับจากสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อบันทึก (เช่น แผ่นเสียง เทป ซีดี) โรงภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต กล่าวกันว่ามือถือรวมเอาข้อดีของสื่อก่อนหน้านี้เข้าด้วยกันและยังเพิ่มสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนเข้าไปอีกด้วย สื่อในแต่ละยุคสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับคนจำนวนมาก มีผู้ผลิตสื่อ เจ้าของสื่อ และธุรกิจรอบข้างเกิดขึ้นมากมายทั่วโลกและมีคนที่ประสบความสำเร็จกลายเป็น “เจ้าพ่อ” วงการสื่อก็ไม่น้อย สำหรับโทรศัพท์มือถือก็เช่นกัน ธุรกิจที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ที่ผู้ผลิตและผู้ให้บริการเท่านั้นก็กำลังแผ่ขยายไปยังกลุ่มคนอื่นในระบบนิเวศนั้น ๆ ซึ่งรวมไปถึงนักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ผู้ผลิตอุปกรณ์เสริม ผู้รวบรวมคอนเทนต์ เจ้าของสื่อแบบเดิมที่มองว่ามือถือเป็นอีกช่องทางที่สำคัญ รวมไปถึงเจ้าของแบรนด์หรือธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการสื่อสารเลย ความสำคัญของโทรศัพท์มือถือในด้านที่เป็นสื่อไม่ใช่เพียงแค่จำนวน (มีผู้ใช้มือถือมากกว่าสามพันล้านคนทั่วโลก) แต่ยังทำให้การสื่อสารแบบสองทาง เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ง่ายดายและเชิญชวนอีกด้วย แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือทำให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลของแบรนด์ ทำธุรกรรมทางการเงินกับผู้ให้บริการ จ่ายเงินค่าสินค้าและบริการโดยตรง และที่สำคัญคือ อยู่ติดตัวผู้ใช้ตลอดเวลาแม้กระทั่งเวลานอน ระบบปฏิบัติการ (operating system) ยุคใหม่ ๆ จึงพยายามที่จะเล่าเรื่องนี้กับหุ้นส่วนธุรกิจในระบบนิเวศของตัวเอง แต่วินโดวส์ โฟน ดูจะตีโจทย์นี้ได้แตกที่สุด ในหน้าจอหลักหรือที่เรียกว่าสตาร์ต สกรีน จะประกอบไปด้วยช่องสี่เหลี่ยมสามขนาดที่ผู้ใช้สามารถเลือกแอพหรือบริการต่าง ๆ มาจัดเรียงให้เข้ากับความต้องการหรือไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้มากที่สุด เจ้าของธุรกิจ แบรนด์หรือ นักพัฒนาที่สามารถครองพื้นที่ตรงนี้ได้มากก็จะมีโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มาก สามารถสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ยกตัวอย่างรูปแรก อันนี้เป็นไลฟ์ไทล์ปกติบนโนเกีย ลูเมียของผม แต่ถ้าแบรนด์หรือผู้ให้บริการสามารถสร้างแอพที่ผมชอบ ผมก็จะนำแอพเหล่านี้มา pin ไว้ที่หน้าจอ ซึ่งจะกลายเป็นรูปที่สอง ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ จากแบรนด์ก็จะถูกส่ง (push) มาถึงหน้าจอของผมตลอดเวลา ส่วนรูปสุดท้ายก็ยกตัวอย่างหน้าจอโทรศัพท์ที่เป็นของนักเล่นหุ้น ซึ่งทำเลทั้งหมดบนสตาร์ตสกรีน ของเขาก็เทให้กับหุ้นในพอร์ทที่เขามีอยู่ ต่อจากนี้ไปทั้งแบรนด์หรือนักพัฒนาก็จะพยายามสร้างแอพเพื่อดึงดูดให้คนนำไป pin ไว้ในตำแหน่งที่ดีที่สุด ยุทธการแย่งชิงพื้นที่ทำธุรกิจก็จะเกิดขึ้นบนโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในอุ้งมือของคุณเอง. จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนนักพัฒนา โนเกีย ประเทศไทย [code] ที่มา : http://www.dailynews.co.th/technology/171971 [/code]